ตอนที่ 18 กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ ภาคดาราศาสตร์

ฟังที่นี่ หรือดาวน์โหลดไปฟังก็ได้

เรื่องติดค้างกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์
แค่ตำนานสารพัดก็ยาวโข
ต้องเพิ่มตอนดาราศาสตร์อีกใหญ่โต
ชิคาโกตาฮิติถึงฮาวาย
กลุ่มเคลื่อนที่คืออะไรฟังให้รู้
แล้วไปดูฝนดาวตกกระจายสาย
ยังมีคำควอแตรนต์อยู่อีกฝ่าย
ทั้งเขตว่างกว้างขยายเกินจินตนา

หรือคลิกไปฟังใน Spotify

ชื่อดาว Arcturus มายังไง

ชาวยุโรปรู้จักชื่อ Arcturus มานาน คำนี้เป็นคำกรีกโบราณ Arktouros เขียนว่า Ἀρκτοῦρος แปลว่า ผู้อภิบาลหมี มาจากคำเก่า 2 คำ คือ ἄρκτος (arktos – อาร์คทอส) แปลว่า หมี กับ οὖρος (ouros – อูรอส) แปลว่า คนเฝ้า

นิทรรศการโลกที่นครชิคาโกเมื่อปี 1933

เป็นนิทรรศการที่ไม่ใช่แค่งานแสดงของใหม่ แต่เป็นงานที่ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริการฟื้นแล้วจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1929 ผู้จัดเตรียมงานมาอย่างดี และมีคนหลั่งไหลมาชมงานจากทั่วประเทศและทั่วโลก งานเปิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 1933 และปิดลงวันที่ 12 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน แต่ความโด่งดังของงานทำให้ต้องเปิดกลับขึ้นมาอีกในช่วงวันที่ 26 พฤษภาคม 1934 ถึง 31 ตุลาคม 1934 มีผู้เข้าชมงานรวม 48,769,227 คน จำนวนผู้เข้าชมวันสุดท้ายคือ 374,127 คน

ภาพมุมกว้างจาก Chicago World’s Fair 1933

เขตว่างคนเลี้ยงสัตว์

Boötes Void

แผนที่แสดงเขตว่างคนเลี้ยงสัตว์ ในท่ามกลางดาวนับพัน
เทียบตำแหน่งกับภาพจาก Stellarium

ฝนดาวตกควอแดรนต์

กลุ่มดาวควอแดรนต์ติดผนัง Quadrans Muralis ไม่มีในสารบบกลุ่มดาวมาตรฐาน แต่เหลือร่องรอยในชื่อฝนดาวตก

ในรูปแผนที่ดาวโบราณแผ่นนี้ กลุ่มดาวควอแดรนต์ติดผนังอยู่ที่ขอบบน
เหนือหัวกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ที่ถือสายจูงกลุ่มดาวหมาล่าเนื้อ

จุดกระจายอยู่ระหว่างดาวเรียงเด่นของกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ หมีใหญ่ และมังกร อยู่ในขอบเขตของกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์

A finder chart depicting the location of the radiant of the Quadrantids meteor shower, from Astronomy Now magazine.
Credit: Astronomy Now/Greg Smye-Rumsby
License type: Attribution (CC BY 4.0)
รูปถ่ายดาวตกในฝนดาวตกควอแดรนต์

ตอนที่ 17 – กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์

  คนเลี้ยงสัตว์กลุ่มดาวใหญ่คนไม่คุ้น
เหล้าองุ่นอิคาเรียสประเดิมที่นี่
อีกดาวสว่างยอดมหาจุฬามณี
ดวงแก้วยอดเจดีย์บนดาวดึงส์
เปิดเรื่องพระปฐมสมโพธิกถา
มหาวงศ์ลังกาก็อ้างถึง
กับเวาปีเหยี่ยวขาวอีกเรื่องหนึ่ง
ฟังไม่หมดแบ่งครึ่งได้ตามสบาย

ภาพประกอบนิทานในพอดคาสต์ เรื่องเป็นอย่างไรขอเชิญฟังครับ

อิคาเรียส

อิคาเรียสทำเหล้าองู่นเสร็จแล้ว กำลังนำขึ้นเกวียนไปแจกจ่าย จนเป็นเหตุให้เขาถูกฆ่าตาย

พระปฐมสมโพธิกถา

พระมาลัยขึ้นไปกราบพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระอินทร์ทรงสร้างพระจุฬามณีเจดีย์ไว้ในดาวดึงส์เทวโลก เป็นปูชนียสถานสำหรับบรรจุพระจุฬามณี (มวยพระเกศา) ของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์สีเขียว ดังปรากฏในพระมาลัยว่า “สถูปอินทนิลมณี” มีความสูง 12 โยชน์

https://graphicarts.princeton.edu/2018/07/18/the-legend-of-phra-malai/

มหาวงศ์

เจดีย์บรรจุพระรากขวัญเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าที่อัญเชิญมาจากอินเดีย ในตำนานมหาวงศ์บอกว่าพระอินทร์หยิบอองมาจากจุฬามณีเจดีย์แบ่งให้

ถูปาราม สถูปพระธาตุและอาราม

เวาปี เหยี่ยวขาว

เรื่องของเวาปีในรูปนี้เป็นตอนที่เวาปีแอบดูนางสวรรค์ลอยลงมาจับระบำ

http://carolsnotebook.com/2011/07/14/thursdays-tale-the-star-maiden/

ฟังที่นี่ หรือดาวน์โหลดไปฟังก็ได้

ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 17

ตอนที่ 16 – กลุ่มดาวคนคู่

เรื่องคนคู่คือไขขานมาปล่อยของ
คู่แฝดกรีกลงจองตามวิสัย
นักบุญเอลโมมีดวงไฟ
โลงกับกาแบบไทยนั้นเกี่ยวกัน
อัทระปุนัพสุระดมมาเล่า
ทีอาซีก็เข้ามาสังสรรค์
ทั้งบ่อทั้งแม่น้ำเหนือใต้พัลวัน
สารพันวัตถุที่ชวนชม

กลุ่มดาวคนคู่เริ่มรวบรวมตำนานไว้เมื่อครั้งไปเล่าเรื่องที่หอดูดาวเฉลิมพระเกีรอยรติฯ ที่อ.แปลงยาว วันมีฝนดาวตก แล้วค้นคว้าเพิ่มเติมจนกลายเป็นตอนที่ยาวที่สุด นอกจากยาวที่สุดแล้ว ยังเปลี่ยนเสียงเพลงเปิดรายการ จนถึงปิดรายการ ให้เป็นแนวเดียวกันทั้งหมด ต้องพากย์เสียงเปิดใหม่ด้วย เพราะแนวเพลงไม่เหมือนกับที่เคยใช้

อุปรากรเรื่อง คาสเตอร์และพอลลักซ์ ของราโม เต็มเรื่อง

ไฟของนักบุญเอลโม (St. Elmo’s fire)

By Wolfgang Sauber – Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=44419539

ปรากฏการณ์แสงไฟฟ้าในอากาศที่ชาวกรีกโบราณเรียกว่าคาสเตอร์กับพอลลักซ์ ปัจจุบันเรียกกันว่าไฟของนักบุญเอลโม ได้ชื่อจากนักบุญเอรัสมุสแห่งฟอร์เมีย

ปรากฏการณ์แบบเดียวกับไฟของนักบุญเอลโม ในกลุ่มควันที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ
ภาพจากบทความใน Science Blog, Image credit: Sakurajima Volcananological Observatory

คนไทยสมัยก่อนมองกลุ่มดาวคนคู่เป็นโลง

ภาพดาวจากซอฟต์แวร์ Stellarium

ดาวนักขัตฤกษ์ ปุนัพสุ คือดาวคาสเตอร์ กับพอลลักซ์ และอีกดวงหนึ่งทางซ้าย บนเส้นประ

ดาวโลง คือดาวเรียงเด่นหลักของกลุ่มดาวคนคู่ บนเส้นสีแดง

ดาวกา ของชาวพัทลุง คือเส้นสีเขียว (ตามแบบของนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ใน ไทบ้านดูดาว)

ดาวจีนในบริเวณกลุ่มดาวคนคู่

คือคณะดาวจิ่ง (คำว่า คณะดาว ผมตั้งขึ้นใหม่เอง เพื่อเป็นการเรียกไม่ให้ซ้ำกับ กลุ่มดาว) จิ่ง คือบ่อน้ำที่มีขอบบ่อ มีดาวประกอบหลายชุด

(แปลมาจาก The New Patterns in the Sky ของ Julius Staal)

กำเนิดดาวคนคู่ในตำนานไวกิ้ง

ตำนานนอร์ส ของชาวสแกนดิเนเวีย (ไวกิ้ง) ในยุโรปเหนือ เล่าถึงการเกิดดาวคนคู่จากดวงตาของยักษ์ทีอาซี เทพโลกิต้องทำงานหนัก

ในงานเลี้ยงฉลองสมรสของนางสคาดิกับเทพนยอร์ด โลกิผูกตัวเองเข้ากับแพะ ดึงกันไปมาจนเชือกขาด แล้วสคาดิก็หัวเราะ
(ภาพประกอบโดย บรรลือธนวรรฒ วงษ์เจริญธรรม)

วัตถุน่าสนใจในกลุ่มดาวคนคู่

กลุ่มดาวคนคู่
By Gemini_constellation_map.png: Torsten Brongerderivative work: Kxx (talk) – Gemini_constellation_map.png, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=10839662

ดาวคาสเตอร์ หรือแอลฟาคนคู่ ดาวที่สว่างเป็นที่สองของกลุ่มดาวคนคู่ (แต่ได้ชื่อแอลฟา) ไม่ใช่ดาวดวงเดียว เราเห็นเป็นดวงเดียวเพราะมันอยู่ไกลกว่าสายตาจะแยกออก

ระบบดาวหกดวงของดาวคาสเตอร์แบ่งเป็น 3 คู่ ดวงใหญ่ที่สุดอยู่ในคู่ A ซึ่งโคจรรรอบศูนย์มวลเดียวกันกับคู่ B ส่วนคู่ C เป็นคู่เล็กกว่าที่โคจรรอบรอบศูนย์มวลนั้นด้วย แต่มีคาบโคจรนานหลายพันปี

ดาวเกมินกา

ดาวเกมินกา (Geminga – อ่านว่า เกมินกา ไม่ใช่ เจมินกา) มองด้วยตาไม่เห็น เพราะเป็นดาวนิวตรอน ภาพนี้สร้างขึ้นโดยการรวมภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา (รังสีเอกซ์) กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิดเซอร์ (แสงอินฟราเรด)

เนบิวลาเอสกิโม (NGC 2392) ในกลุ่มดาวคนคู่
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 16

ตอนที่ 15 – กลุ่มดาววัว

เรื่องกลุ่มดาววัวนี้เขียนเป็นบทความไว้หลายปีแล้ว ไม่ได้เอามาทำพอดคาสต์เพราะนึกว่าเล่าไปแล้ว พอย้อนดูอีกที อ้าว ยังไม่ได้ทำนี่นา

ราศีพฤษภคือเรื่องนางยูโรปา
กับคดีลักพาอันลือลั่น
ดาวลูกไก่ไพลยาดีสมาด้วยกัน
กฤติกาพัลวันยืดยาวดี
ไดโอไนซัส ไฮยาดีส มีเรื่องเล่า
โรหิณี โรหิตเก่านั้นตามสี
อีกดาวสวาหาพระอัคนี
เต็มปรี่เรื่องราวของดาววัว

นางยูโรปาเป็นที่มาของชื่อทวีปยุโรป เมืองไซดอนปัจจุบันอยู่ในประเทศเลบานอน เส้นทางข้ามทะเลที่เห็นเป็นระยะทางกว่า 800 กม.

(แผนที่จาก openstreetmap.org)

ดังนั้น วัวเทพเจ้าคงต้องมีอิทธิฤทธิ์ย่นย่อระยะทางเป็นแน่ ไม่อย่างนั้นนั่งกันแบบนี้นางยูโรปาคงตายคาหลังวัวที่กลางทะเล

(The Abduction of Europa โดย Jean-François de Troy ภาพจากวิกิมีเดีย)

กลุ่มดาววัวบนท้องฟ้า มีดาวตาวัว (Aldebaran–อัลดีบาราน, α Tauri–แอลฟาวัว) สุกใสสว่าง และมีดาวลูกไก่ที่โดดเด่นอยู่ในอาณาเขต ดาวอัคนี (β Tauri–บีตาวัว) กับดาวสวาหา (ζ Tauri–ซีตาวัว) เป็นปลายเขาสองข้างที่ต่อมาจากดาวเรียงเด่นรูป V ที่เกิดจากการเรียงตัวของกระจุกดาวเปิดไฮยาดีสกับดาวตาวัว

(แผนที่ฟ้าจาก IAU and Sky & Telescope magazine (Roger Sinnott & Rick Fienberg), CC BY 3.0)

เทพไดโอไนซัส ตำนานว่ามีเขา เถาองุ่นที่เห็นคงเพื่อครอบบังไว้ ไม่ต้องทำเขา ถ้วยเหล้าองุ่นในมือเป็นของขาดไม่ได้

(ภาพ Statue of Dionysus. Marble, 2nd century CE จากวิกิมีเดีย)

รูปพระขันธกุมารในที่นี้มาสามแบบ ซ้ายสุดเป็นปาง 6 พักตร์ทรงเทพอาวุธนานาชนิด มีนางเทวเสนากับนางวัลลีเป็นชายา ทรงนกยูงเป็นพาหนะ ส่วนงูนั้นมักวาดมาให้อยู่ในอุ้งตีนนกยูง ยังหาไม่พบว่าทำไมต้องหิ้วไปด้วย รูปกลางเป็นเทวรูปการติเกยะองค์มหึมาที่หน้าถ้ำบาตูในรัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย ส่วนรูปขวาเป็นประติมากรรมพระขันธกุมารทรงศรประทับบนหลังนกยูง

(ภาพมีคนรวมจากภาพสาธารณะให้ A collage of Kartikeya Skanda Murugan Subramaniyam images นำมาจากวิกิมีเดีย)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 15

ตอนที่ 14 – กลุ่มดาวสารถี

ไม่เคยคิดว่าจะเลิกเล่านิทานดาว แต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะทิ้งมันไปนานเกือบ 10 ปี กลุ่มดาวสารถี เป็นเรื่องที่เตรียมไว้ด้วยความตั้งใจว่าจะต้องทำเป็นนิทานดาวตอนใหม่ให้ได้ และแล้วความตั้งใจก็เป็นจริง

ใครจะนึกว่ากลุ่มดาวที่เรื่องน้อย
ถูกพูดถึงไม่บ่อยอย่างสารถี
จะต่อความได้มากหลากคดี
สมกับห้าปีที่ขาดตอน
เปิดด้วยท้าวไทเอริคโทเนียส
แล้วเล่าเฉียดบาบิโลเนียเสียหน่อยก่อน
ต่อด้วยพรหมหฤทัยไปเรื่องละคร
เล่าซับซ้อนจีนไทยให้วุ่นเอย

กลุ่มดาวสารถีที่เห็นรูปในท้องฟ้า มาจากเทพปกรณัมกรีก เรื่องราชาเอริคโทเนียส ที่เกิดจากเชื้อของเทพช่างเหล็กเฮไฟสตัสกับพระเม่ธรณีกายยา แต่ได้เป็นลูกเลี้ยงของเทวีอธีนา เพราะอะไร? ต้องฟังในพอดคาสต์

เอริคโทเนียสออกจากตะกร้าวิเศษ เปิดเผยตัวตนต่อชาวเมือง
Antonio Tempesta (Italy, Florence, 1555-1630), Wilhelm Janson (Holland, Amsterdam)

ก่อนสารถีบนฟ้าจะถือแส้ เขาเคยถือตะขอมาก่อน เรื่องนี้เกี่ยวกับแพะในมือของสารถี และอารยธรรมบาบิโลเนีย

คนเลี้ยงแกะถือตะขอ ชมนางพรายนอน สังเกตไม้เท้าที่มีหัวตะขอสำหรับเกี่ยวแพะแกะที่ตกร่องหรือตกเขา
A Sleeping Nymph Watched by a Shepherd , about 1780, Angelica Kauffman V&A Museum no. 23-1886

รถศึกเทียมม้า เป็นนวัตกรรมสงครามของบาบิโลเนีย หรือของชาวฮิกซอส อันนี้ไม่แน่ แต่ที่แน่ๆ คือจากจุดนี้ รถศึกจะเข้าไปในอียิปต์ และเพิ่มอานุภาพให้จักรวรรดิอียิปต์อีกมากมาย

แบบจำลองรถม้าสองล้อจากบาบิโลเนีย ทำด้วยดินเผา

ดาวหงส์ตามแนวคิดของนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ใน ไทบ้านดูดาว

ดาวหงส์ในวรรณคดีของไทย คือบางส่วนของกลุ่มดาวสารถี (Auriga)
(ปรับปรุงจากโปรแกรม Cartes du Ciel V2.0 โดย วรพล ไม้สน)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 14

ตอนที่ 13 – ตำนานจีนเรื่องสวรรค์เอียงกับดาวกระบวยเหนือใต้

แรงบันดาลใจมาจากการค้นพบ ได้พบปะพูดคุยกับผู้รู้ ได้อ่านข้อเขียนที่จุดประกายความคิด จากนิทานสั้น กลายเป็นกลอน แล้วพามาถึงไขขานนิทานดาวตอนที่ 13 จนได้

เรื่องดาวกระบวยเหนือใต้ของจีนกล่าวถึงดาวกระบวยสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเรียกว่าดาวกระบวยเหนือ ซึ่งได้แก่ดาวหมีใหญ่หรือดาวจระเข้ของไทยนี่เอง อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่าดาวกระบวยใต้ ความจริงเรียก กระบวย เฉยๆ ก็ได้ เพราะกลุ่มดาวจีนชื่อนี้จริงๆ

ดาวกระบวยทางเหนือกับดาวกระบวยทางใต้เล่นหมากล้อมอยู่ที่ปลายนาข้าวสาลี หยานเชาหนุ่มค่อยรินสุรา ยื่นเนื้อกวาง
(ภาพจากเว็บพิพิธภัณฑ์อวกาศฮ่องกง)

ดาว กระบวย คำจีนเขียนว่า 斗 อ่านว่า โต่ว ประกอบด้วยดาว 6 ดวงในกลุ่มดาวคนยิงธนู คือ ซีตา (ζ) เทา (τ) ซิกมา (σ) ฟาย (φ) แลมบ์ดา (λ) และมิว (μ) คนยิงธนู

ดาวกระบวยใต้ของจีน เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวคนยิงธนูตามมาตรฐานสากล
(ข้อมูลกลุ่มดาวจากวิกิพีเดีย ภาพจาก Stellarium)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 13

นิทานดาวกระบวยเหนือใต้ของจีน

เล่าใหม่โดย วิษณุ เอื้อชูเกียรติ

นิทานเก่าเล่าขานมานานแท้ ตั้งแต่ครั้งสามก๊กสมัยก่อน เรื่องดาวกระบวยเหนือใต้ในนาดอน ต่ออายุหนุ่มอ่อนให้ยืนนาน

เต้าหยินกว่านลู่ผู้เรืองฤทธิ์ ย้ายถิ่นสถิตลงที่ราบบนทางผ่าน พบหยานเชาคำนับเข้ากราบกราน จึงหยั่งการอายุขัยอันใกล้ปลง บอกว่าเจ้าสิบเก้าแล้วไม่แคล้วดับ หยานเชารับคำทำนายไม่พึงประสงค์ วอนกว่านลู่ต่อชีพรอดปีชง ขออย่าให้ตายลงในเร็ววัน

“เจ้าจงเตรียมเหล้าเลิศกวางหนึ่งชั่ง กว่านลู่สั่งทันทีขมีขมัน ใต้ต้นหม่อนทิศทักษิณจงไปพลัน ณ ที่นั้นปลายนาเกี่ยวสาลี เจ้าจักพบสองเฒ่านั่งเจ่าจ่อม เฝ้าพันตูหมากล้อมอย่างเต็มที่ เฒ่าฝั่งเหนือหันใต้ดูไม่ดี ชุดขาวราวผีถมึงทึง เฒ่าฝั่งใต้หันเหนือห่มแดงสด หน้าหมดจดใจดีเป็นที่หนึ่ง จงรินเหล้าเฉือนเนื้ออย่าอื้ออึง คุกเข่ายื่นแล้วนิ่งขึงไม่เสียงดัง ทำไปเถิดจนกว่าเหล้าจะเกลี้ยง ถ้าท่านถามอย่าส่งเสียงคำนับซ้ำ เพียงเท่านี้พอแล้วที่ต้องทำ โชคชะตาจะนำอายุมา”

หยานเชาไปถึงที่แล้วปฏิบัติ ไม่ติดขัดตามคำเต้าหยินว่า สองเฒ่าหมากล้อมดื่มสุรา แกล้มกวางป่าแต่ไม่รู้จากผู้ใด

เฒ่าทางเหนือเอ่ยถาม

“เอ๊ะเจ้านี่ ทำไมมาอยู่ตรงนี้จงแถลงไข”

หยานเชาคำนับไม่ตอบอะไร เฒ่าทางใต้เอ่ยตอบในทันที

“เราดื่มเหล้ากินเนื้อที่เขาคัด จะไม่จัดสิ่งใดให้พอที่ บ้างละหรือเราไซร้ควรไยดี ช่วยเจ้าหนุ่มคนนี้ให้สมกัน”

เฒ่าเหนือว่า

”อายุขัยของเขาเรากำหนด ในบัญชีไม่อาจทดอายุสั้น”

เฒ่าใต้บอก

“เอาบัญชีมาดูพลัน”

ที่ในนั้นให้หยานเชาสิบเก้าปี แล้วหยิบพู่กันมาขีดเพิ่ม ต่อเติมเส้นตัวเลขได้ถูกที่ จากสิบเก้าเป็นเก้าสิบพอดิบพอดี

“ข้าให้เจ้าเท่านี้ก็แล้วกัน”

หยานเชาคำนับอีกแล้วเดินกลับ

กว่านลู่สำทับว่า

“สรวงสวรรค์ ต่ออายุให้เจ้าแล้วอีกนานครัน”

แล้วผายผันจากไปไม่หวนคืน

เฒ่าทางเหนือคือดาวกระบวยเหนือ คงอยู่เพื่อนำความตายมาหยิบยื่น เฒ่าทางตายคือกระบวยใต้คือการฟื้น การเกิดตื่นทั้งสิ้นที่ยินดี คนเราเกิดมาจะต้องผ่าน กระบวยใต้เบิกบานเป็นสุขศรี แล้วล่วงสู่กระบวยเหนีอเมื่อชีวี ถมคืนปฐพีทุกผู้คน

รายการ อะพอลโล 11 – จาก ม.รังสิต

รายการวิทยุจาก ม.รังสิต ที่มาสัมภาษณ์ผมไว้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 เพื่อเป็นงานเก็บคะแนนของนักศึกษานิเทศศาสตร์ปีที่ 2 ขอนำมาเผยแพร่ไว้ที่นี่อีกแห่งหนึ่งครับ

ฟังรายการ อะพอลโล 11 – จาก ม.รังสิต

ตอนที่ 12 – ดาวเคราะห์อลวน

ไขขานขึ้นตอนใหม่ขัดตาทัพ
ไร้นิทานชวนสดับดังก่อนเก่า
เอาอลวนดาวเคราะห์มาบรรเทา
พฤหัส-เสาร์คู่ยักษ์ผลักกระเจิง

เรื่องดาวเคราะห์อลวน เป็นเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบทความในนิตยสารสองสามฉบับที่ผมได้อ่าน หรือได้แปลในช่วงกลางปี 2556 ว่าด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ในวงการดาราศาสตร์ ซึ่งระบุว่าดาวเคราะห์ในระบบสุริยะในอดีตมีการมีการย้ายวงโคจรและสร้างความปั่นป่วนไปทั่วทั้งระบบ

ภาพเนบิวลาสุริยะในจินตนาการของศิลปิน ดาวเกิดใหม่ก่อตัวขึ้นจากการยุบตัวของเมฆโมเลกุลและสร้างจานดาวเคราะห์ไปพร้อมกัน
(ESO/L. Calçada, CC BY 4.0, from Wikimedia)

สิ่งที่น่าประหลาดใจคือบทความทั้งหมดตีพิมพ์ออกมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันมาก ต่อมาได้ฟังรายการพอดคาสต์ Astronomy Cast ตอน Planetary migration ซึ่งทำไว้เมื่อเดือนเมษายน 2556 ถึงได้เข้าใจว่าทฤษฎีนี้แม้จะเสนอมา 10 ปีแล้ว หากเพิ่งได้รับความยอมรับจากวงการดาราศาสตร์อย่างเต็มที่เมื่อไม่นานมานี้

ช่วงนั้นผมกำลังวางแผนบทความให้กับเว็บไซต์ของสำนักกิจการอวกาศ กระทรวง ICT อยู่พอดี เลยค้นคว้าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำหรับลงในเว็บดังกล่าว ตั้งชื่อบทความว่า ดาวเคราะห์อลวน ซึ่งขณะนี้สำนักงานและกระทรวงถูกยุบไปแล้ว จึำไม่มีเว็บเผยแพร่ผลงาน

แบบจำลองนีซแสดงสถานะของระบบสุริยะในสามห้วงเวลา กรอบซ้ายสุดเป็นสถานะเริ่มต้นเมื่อดาวเคราะห์ยักษ์ทุกดวงโคจรเป็นวงกลมรอบดวงอาทิตย์ มีวัตถุดาวเคราะห์โคจรเป็นวงกลมอยู่รอบนอก กรอบกลางคือสภาพหลังจากดาวเสาร์กับดาวพฤหัสบดีเข้าสู่วงโคจรสั่นพ้อง 1:2 และดาวเนปจูน (วงโคจรสีน้ำเงิน) ย้ายข้ามวงโคจรของดาวยูเรนัส (เส้นสีฟ้า) ลุยเข้าไปในแถบวัตถุดาวเคราะห์ กรอบขวาคือสภาพหลังจากวัตถุดาวเคราะห์กระเจิงไปมากแล้ว
(AstroMark, CC BY-SA 3.0, from Wikimedia)

ต่อมาในการประชุมกรรมการพจนานุกรมดาราศาสตร์ที่ราชบัณฑิตยสถานซึ่งผมเป็นกรรมการอยู่ด้วย มีคำขอบทความวิชาการดาราศาสตร์ไปเล่าในรายการ คลังความรู้คู่แผ่นดิน ของราชบัณฑิตยสถาน สำหรับออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ขณะนั้นผมเพิ่งเขียนบทความเสร็จได้ไม่นาน ยังหยิบข้อมูลมาพูดได้คล่องปาก จึงอาสาไปเรื่องหนึ่ง คือเรื่องดาวเคราะห์อลวนนี่เอง

สิ่งที่พิเศษสำหรับการให้สัมภาษณ์ในรายการนี้คือ ปกติอาจารย์จากราชบัณฑิตฯ มักให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เพื่อความสะดวก แต่ผมคิดอยู่แล้วว่าจะขอรายการนั้นมาทำพอดคาสต์ จึงเจาะจงไปว่าจะขอไปให้สัมภาษณ์ที่ห้องอัดเสียงของสถานีวิทยุ จนได้ออกมาเป็นรายการ ออกอากาศเมื่อวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2556 เวลา 20.30 น.

ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 12

ตอนที่ 11 – กลุ่มดาวโลมา

เดลฟินัส – โยบ – นบีอัยยู๊บ

เล่าเรื่องกลุ่มดาวใหญ่ไปมากแล้ว
ขอเปลี่ยนแนวเล่าเรื่องเล็กเล็กบ้าง
ประเดิมด้วยโลมารางชาง
ขุดคัมภีร์มาอ้าง-โยบ-นบี

กลุ่มดาวโลมาแอบอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมฤดูร้อน ข้างดาวนกอินทรี ถ้าอยู่ในเมืองจะเห็นค่อนข้างยาก เพราะกลุ่มเล็กและดาวก็ไม่สว่างมากนัก ตำนานต้นเรื่องของกลุ่มดาวโลมาก็สั้นนิดเดียว สมกับเป็นเรื่องของกลุ่มดาวเล็ก

กลุ่มดาวโลมา
(วิกิพีเดีย)
ภาพกลุ่มดาวโลมาในแผนที่ดาวโบราณ แสดงร่วมกับกลุ่มดาวที่อยู่ใกล้เคียง คือลูกธนู นกอินทรี และอันทิโนอัส (กลุ่มดาวโบราณ ปัจจุบันแทนด้วยกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ) โดย เจโอชาฟัต แอสพิน แห่งลอนดอน 1825 ทำแม่พิมพ์โดย ซิดนีย์ ฮอลล์
(Hall, Sidney, Etcher. Delphinus, Sagitta, Aquila, and Antinous / Sidy. Hall, sculpt. , 1825. https://www.loc.gov/resource/cph.3g10062/)

ถึงกระนั้น เรื่องของกลุ่มดาวโลมาก็ยังมีศิลปินในอดีตหยิบมาวาดเป็นจิตรกรรมคลาสสิก

สยุมพรเทพโพไซดอนกับนางแอมฟิไทรที จิตรกรรมฝาผนัง วาดในช่วงปี 1802-05 โดยเฟลิเช เจียนี
(Wikimedia)

อีกชื่อหนึ่งของกลุ่มดาวโลมา หรือที่ถูกต้องบอกว่าของดาวเรียงเด่นส่วนหนึ่งในกลุ่มดาวโลมา คือโลงศพของโยบ (Job’s coffin) เรื่องของศาสดาพยากรณ์ที่ชื่อโยบ เป็นบทสำคัญบทหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิล เรื่องนี้มีจิตรกรจับตอนต่างๆ ไปวาดภาพไว้มากมาย แต่ที่เด่นมากเป็นภาพประกอบพระคัมภีร์ที่ วิลเลียม เบลค จิตรกรและกวีอังกฤษเมื่อสองร้อยปีก่อนได้สร้างไว้

ที่นำมาให้ชมนี้เป็นเพียงบางส่วน ฉบับเต็มหาดูได้ในเว็บ ที่นี่

ศาสนาอิสลาม เรียกโยบว่า นบีอัยยู๊บ (ใส่ไม้ตรีตามที่เห็นใช้กันในเอกสารของอิสลามหลายแห่ง) หรือ อัยยูบ (ไม่มีไม้ตรี แต่ออกเสียงตรี) คำว่า นบี หมายถึงศาสดาพยากรณ์

เรื่องของนบีอัยยู๊บมีเรื่องราวคล้ายกับที่เล่าไว้ในคัมภีร์ไบเบิล และยังมีหลุมศพของท่านให้เห็นอยู่ในประเทศโอมานปัจจุบัน

เนบิวลาดาวเคราะห์ NGC 6891 ในกลุ่มดาวโลมา
(ภาพ NGC 6891 ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ได้จาก Wikimedia)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 11

ตอนพิเศษ 2 – History of modern astronomy in Thailand Part 2

History of Modern Astronomy in Thailand Part 2

พอดคาสต์ภาษาอังกฤษ เรื่องประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์สมัยใหม่ในประเทศไทย ภาคจบ เผยแพร่ในรายการ 365 Days of Astronomy โครงการหนึ่งของ International Year of Astronomy (ซึ่งตอนแรกว่าจะทำแค่ปีเดียว แต่การตอบรับดีมากจนเปลี่ยนเป็นจัดต่อไปเรื่อยๆ)

มีพากย์ไทยเล่าเรื่องทั้งสองตอนให้ฟังก่อน แล้วจึงเป็นภาษาอังกฤษ ตามด้วยเพลงประกอบเต็มเพลง

ดาราศาสตร์ยุคใหม่ในสยาม
เราติดตามครั้งอยุธยายังทันสมัย
ถึงรัตนโกสินทร์ยิ่งอำไพ
เล่าเป็นไทยแล้วพากย์ฝรั่งแล้วฟังเพลง

ส่วนภาษาอังกฤษ จับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่เจ็ดมาจนถึงยุคปัจจุบัน อันเป็นยุคที่ดาราศาสตร์ในประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก มีความเพิ่มพูนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

เพลงประกอบคือเพลง ราตรีประดับดาว พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียบเรียงและบรรเลงโดยวงดุริยางค์ไทยแลนด์ฟิลฮาร์โมนิค นำมาใช้โดยได้รับอนุญาตแล้ว

นอกจากการเล่าเรื่องในรายการ ผมได้ทำหนังสือเล่มเล็กเป็นภาษาอังกฤษ มีภาพประกอบ และพากย์ไทย ขึ้นไว้เล่มหนึ่ง ชื่อ History of Modern Astronomy in Thailand ในสองรูปแบบ คือ

ที่เป็น PDF นั้นเปิดอ่านในคอมพิวเตอร์ได้ง่าย ส่วน epub ต้องมีโปรแกรมอ่าน หรือส่งเข้าไปในเครื่องอ่านจึงจะอ่านได้

ฟังพอดคาสต์ตอนพิเศษ 2