ตอนที่ 17 – กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์

  คนเลี้ยงสัตว์กลุ่มดาวใหญ่คนไม่คุ้น
เหล้าองุ่นอิคาเรียสประเดิมที่นี่
อีกดาวสว่างยอดมหาจุฬามณี
ดวงแก้วยอดเจดีย์บนดาวดึงส์
เปิดเรื่องพระปฐมสมโพธิกถา
มหาวงศ์ลังกาก็อ้างถึง
กับเวาปีเหยี่ยวขาวอีกเรื่องหนึ่ง
ฟังไม่หมดแบ่งครึ่งได้ตามสบาย

ภาพประกอบนิทานในพอดคาสต์ เรื่องเป็นอย่างไรขอเชิญฟังครับ

อิคาเรียส

อิคาเรียสทำเหล้าองู่นเสร็จแล้ว กำลังนำขึ้นเกวียนไปแจกจ่าย จนเป็นเหตุให้เขาถูกฆ่าตาย

พระปฐมสมโพธิกถา

พระมาลัยขึ้นไปกราบพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระอินทร์ทรงสร้างพระจุฬามณีเจดีย์ไว้ในดาวดึงส์เทวโลก เป็นปูชนียสถานสำหรับบรรจุพระจุฬามณี (มวยพระเกศา) ของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์สีเขียว ดังปรากฏในพระมาลัยว่า “สถูปอินทนิลมณี” มีความสูง 12 โยชน์

https://graphicarts.princeton.edu/2018/07/18/the-legend-of-phra-malai/

มหาวงศ์

เจดีย์บรรจุพระรากขวัญเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าที่อัญเชิญมาจากอินเดีย ในตำนานมหาวงศ์บอกว่าพระอินทร์หยิบอองมาจากจุฬามณีเจดีย์แบ่งให้

ถูปาราม สถูปพระธาตุและอาราม

เวาปี เหยี่ยวขาว

เรื่องของเวาปีในรูปนี้เป็นตอนที่เวาปีแอบดูนางสวรรค์ลอยลงมาจับระบำ

http://carolsnotebook.com/2011/07/14/thursdays-tale-the-star-maiden/

ฟังที่นี่ หรือดาวน์โหลดไปฟังก็ได้

ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 17

ตอนที่ 16 – กลุ่มดาวคนคู่

เรื่องคนคู่คือไขขานมาปล่อยของ
คู่แฝดกรีกลงจองตามวิสัย
นักบุญเอลโมมีดวงไฟ
โลงกับกาแบบไทยนั้นเกี่ยวกัน
อัทระปุนัพสุระดมมาเล่า
ทีอาซีก็เข้ามาสังสรรค์
ทั้งบ่อทั้งแม่น้ำเหนือใต้พัลวัน
สารพันวัตถุที่ชวนชม

กลุ่มดาวคนคู่เริ่มรวบรวมตำนานไว้เมื่อครั้งไปเล่าเรื่องที่หอดูดาวเฉลิมพระเกีรอยรติฯ ที่อ.แปลงยาว วันมีฝนดาวตก แล้วค้นคว้าเพิ่มเติมจนกลายเป็นตอนที่ยาวที่สุด นอกจากยาวที่สุดแล้ว ยังเปลี่ยนเสียงเพลงเปิดรายการ จนถึงปิดรายการ ให้เป็นแนวเดียวกันทั้งหมด ต้องพากย์เสียงเปิดใหม่ด้วย เพราะแนวเพลงไม่เหมือนกับที่เคยใช้

อุปรากรเรื่อง คาสเตอร์และพอลลักซ์ ของราโม เต็มเรื่อง

ไฟของนักบุญเอลโม (St. Elmo’s fire)

By Wolfgang Sauber – Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=44419539

ปรากฏการณ์แสงไฟฟ้าในอากาศที่ชาวกรีกโบราณเรียกว่าคาสเตอร์กับพอลลักซ์ ปัจจุบันเรียกกันว่าไฟของนักบุญเอลโม ได้ชื่อจากนักบุญเอรัสมุสแห่งฟอร์เมีย

ปรากฏการณ์แบบเดียวกับไฟของนักบุญเอลโม ในกลุ่มควันที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ
ภาพจากบทความใน Science Blog, Image credit: Sakurajima Volcananological Observatory

คนไทยสมัยก่อนมองกลุ่มดาวคนคู่เป็นโลง

ภาพดาวจากซอฟต์แวร์ Stellarium

ดาวนักขัตฤกษ์ ปุนัพสุ คือดาวคาสเตอร์ กับพอลลักซ์ และอีกดวงหนึ่งทางซ้าย บนเส้นประ

ดาวโลง คือดาวเรียงเด่นหลักของกลุ่มดาวคนคู่ บนเส้นสีแดง

ดาวกา ของชาวพัทลุง คือเส้นสีเขียว (ตามแบบของนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ใน ไทบ้านดูดาว)

ดาวจีนในบริเวณกลุ่มดาวคนคู่

คือคณะดาวจิ่ง (คำว่า คณะดาว ผมตั้งขึ้นใหม่เอง เพื่อเป็นการเรียกไม่ให้ซ้ำกับ กลุ่มดาว) จิ่ง คือบ่อน้ำที่มีขอบบ่อ มีดาวประกอบหลายชุด

(แปลมาจาก The New Patterns in the Sky ของ Julius Staal)

กำเนิดดาวคนคู่ในตำนานไวกิ้ง

ตำนานนอร์ส ของชาวสแกนดิเนเวีย (ไวกิ้ง) ในยุโรปเหนือ เล่าถึงการเกิดดาวคนคู่จากดวงตาของยักษ์ทีอาซี เทพโลกิต้องทำงานหนัก

ในงานเลี้ยงฉลองสมรสของนางสคาดิกับเทพนยอร์ด โลกิผูกตัวเองเข้ากับแพะ ดึงกันไปมาจนเชือกขาด แล้วสคาดิก็หัวเราะ
(ภาพประกอบโดย บรรลือธนวรรฒ วงษ์เจริญธรรม)

วัตถุน่าสนใจในกลุ่มดาวคนคู่

กลุ่มดาวคนคู่
By Gemini_constellation_map.png: Torsten Brongerderivative work: Kxx (talk) – Gemini_constellation_map.png, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=10839662

ดาวคาสเตอร์ หรือแอลฟาคนคู่ ดาวที่สว่างเป็นที่สองของกลุ่มดาวคนคู่ (แต่ได้ชื่อแอลฟา) ไม่ใช่ดาวดวงเดียว เราเห็นเป็นดวงเดียวเพราะมันอยู่ไกลกว่าสายตาจะแยกออก

ระบบดาวหกดวงของดาวคาสเตอร์แบ่งเป็น 3 คู่ ดวงใหญ่ที่สุดอยู่ในคู่ A ซึ่งโคจรรรอบศูนย์มวลเดียวกันกับคู่ B ส่วนคู่ C เป็นคู่เล็กกว่าที่โคจรรอบรอบศูนย์มวลนั้นด้วย แต่มีคาบโคจรนานหลายพันปี

ดาวเกมินกา

ดาวเกมินกา (Geminga – อ่านว่า เกมินกา ไม่ใช่ เจมินกา) มองด้วยตาไม่เห็น เพราะเป็นดาวนิวตรอน ภาพนี้สร้างขึ้นโดยการรวมภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา (รังสีเอกซ์) กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิดเซอร์ (แสงอินฟราเรด)

เนบิวลาเอสกิโม (NGC 2392) ในกลุ่มดาวคนคู่
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 16

ตอนที่ 15 – กลุ่มดาววัว

เรื่องกลุ่มดาววัวนี้เขียนเป็นบทความไว้หลายปีแล้ว ไม่ได้เอามาทำพอดคาสต์เพราะนึกว่าเล่าไปแล้ว พอย้อนดูอีกที อ้าว ยังไม่ได้ทำนี่นา

ราศีพฤษภคือเรื่องนางยูโรปา
กับคดีลักพาอันลือลั่น
ดาวลูกไก่ไพลยาดีสมาด้วยกัน
กฤติกาพัลวันยืดยาวดี
ไดโอไนซัส ไฮยาดีส มีเรื่องเล่า
โรหิณี โรหิตเก่านั้นตามสี
อีกดาวสวาหาพระอัคนี
เต็มปรี่เรื่องราวของดาววัว

นางยูโรปาเป็นที่มาของชื่อทวีปยุโรป เมืองไซดอนปัจจุบันอยู่ในประเทศเลบานอน เส้นทางข้ามทะเลที่เห็นเป็นระยะทางกว่า 800 กม.

(แผนที่จาก openstreetmap.org)

ดังนั้น วัวเทพเจ้าคงต้องมีอิทธิฤทธิ์ย่นย่อระยะทางเป็นแน่ ไม่อย่างนั้นนั่งกันแบบนี้นางยูโรปาคงตายคาหลังวัวที่กลางทะเล

(The Abduction of Europa โดย Jean-François de Troy ภาพจากวิกิมีเดีย)

กลุ่มดาววัวบนท้องฟ้า มีดาวตาวัว (Aldebaran–อัลดีบาราน, α Tauri–แอลฟาวัว) สุกใสสว่าง และมีดาวลูกไก่ที่โดดเด่นอยู่ในอาณาเขต ดาวอัคนี (β Tauri–บีตาวัว) กับดาวสวาหา (ζ Tauri–ซีตาวัว) เป็นปลายเขาสองข้างที่ต่อมาจากดาวเรียงเด่นรูป V ที่เกิดจากการเรียงตัวของกระจุกดาวเปิดไฮยาดีสกับดาวตาวัว

(แผนที่ฟ้าจาก IAU and Sky & Telescope magazine (Roger Sinnott & Rick Fienberg), CC BY 3.0)

เทพไดโอไนซัส ตำนานว่ามีเขา เถาองุ่นที่เห็นคงเพื่อครอบบังไว้ ไม่ต้องทำเขา ถ้วยเหล้าองุ่นในมือเป็นของขาดไม่ได้

(ภาพ Statue of Dionysus. Marble, 2nd century CE จากวิกิมีเดีย)

รูปพระขันธกุมารในที่นี้มาสามแบบ ซ้ายสุดเป็นปาง 6 พักตร์ทรงเทพอาวุธนานาชนิด มีนางเทวเสนากับนางวัลลีเป็นชายา ทรงนกยูงเป็นพาหนะ ส่วนงูนั้นมักวาดมาให้อยู่ในอุ้งตีนนกยูง ยังหาไม่พบว่าทำไมต้องหิ้วไปด้วย รูปกลางเป็นเทวรูปการติเกยะองค์มหึมาที่หน้าถ้ำบาตูในรัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย ส่วนรูปขวาเป็นประติมากรรมพระขันธกุมารทรงศรประทับบนหลังนกยูง

(ภาพมีคนรวมจากภาพสาธารณะให้ A collage of Kartikeya Skanda Murugan Subramaniyam images นำมาจากวิกิมีเดีย)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 15

ตอนที่ 14 – กลุ่มดาวสารถี

ไม่เคยคิดว่าจะเลิกเล่านิทานดาว แต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะทิ้งมันไปนานเกือบ 10 ปี กลุ่มดาวสารถี เป็นเรื่องที่เตรียมไว้ด้วยความตั้งใจว่าจะต้องทำเป็นนิทานดาวตอนใหม่ให้ได้ และแล้วความตั้งใจก็เป็นจริง

ใครจะนึกว่ากลุ่มดาวที่เรื่องน้อย
ถูกพูดถึงไม่บ่อยอย่างสารถี
จะต่อความได้มากหลากคดี
สมกับห้าปีที่ขาดตอน
เปิดด้วยท้าวไทเอริคโทเนียส
แล้วเล่าเฉียดบาบิโลเนียเสียหน่อยก่อน
ต่อด้วยพรหมหฤทัยไปเรื่องละคร
เล่าซับซ้อนจีนไทยให้วุ่นเอย

กลุ่มดาวสารถีที่เห็นรูปในท้องฟ้า มาจากเทพปกรณัมกรีก เรื่องราชาเอริคโทเนียส ที่เกิดจากเชื้อของเทพช่างเหล็กเฮไฟสตัสกับพระเม่ธรณีกายยา แต่ได้เป็นลูกเลี้ยงของเทวีอธีนา เพราะอะไร? ต้องฟังในพอดคาสต์

เอริคโทเนียสออกจากตะกร้าวิเศษ เปิดเผยตัวตนต่อชาวเมือง
Antonio Tempesta (Italy, Florence, 1555-1630), Wilhelm Janson (Holland, Amsterdam)

ก่อนสารถีบนฟ้าจะถือแส้ เขาเคยถือตะขอมาก่อน เรื่องนี้เกี่ยวกับแพะในมือของสารถี และอารยธรรมบาบิโลเนีย

คนเลี้ยงแกะถือตะขอ ชมนางพรายนอน สังเกตไม้เท้าที่มีหัวตะขอสำหรับเกี่ยวแพะแกะที่ตกร่องหรือตกเขา
A Sleeping Nymph Watched by a Shepherd , about 1780, Angelica Kauffman V&A Museum no. 23-1886

รถศึกเทียมม้า เป็นนวัตกรรมสงครามของบาบิโลเนีย หรือของชาวฮิกซอส อันนี้ไม่แน่ แต่ที่แน่ๆ คือจากจุดนี้ รถศึกจะเข้าไปในอียิปต์ และเพิ่มอานุภาพให้จักรวรรดิอียิปต์อีกมากมาย

แบบจำลองรถม้าสองล้อจากบาบิโลเนีย ทำด้วยดินเผา

ดาวหงส์ตามแนวคิดของนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ใน ไทบ้านดูดาว

ดาวหงส์ในวรรณคดีของไทย คือบางส่วนของกลุ่มดาวสารถี (Auriga)
(ปรับปรุงจากโปรแกรม Cartes du Ciel V2.0 โดย วรพล ไม้สน)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 14

ตอนที่ 13 – ตำนานจีนเรื่องสวรรค์เอียงกับดาวกระบวยเหนือใต้

แรงบันดาลใจมาจากการค้นพบ ได้พบปะพูดคุยกับผู้รู้ ได้อ่านข้อเขียนที่จุดประกายความคิด จากนิทานสั้น กลายเป็นกลอน แล้วพามาถึงไขขานนิทานดาวตอนที่ 13 จนได้

เรื่องดาวกระบวยเหนือใต้ของจีนกล่าวถึงดาวกระบวยสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเรียกว่าดาวกระบวยเหนือ ซึ่งได้แก่ดาวหมีใหญ่หรือดาวจระเข้ของไทยนี่เอง อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่าดาวกระบวยใต้ ความจริงเรียก กระบวย เฉยๆ ก็ได้ เพราะกลุ่มดาวจีนชื่อนี้จริงๆ

ดาวกระบวยทางเหนือกับดาวกระบวยทางใต้เล่นหมากล้อมอยู่ที่ปลายนาข้าวสาลี หยานเชาหนุ่มค่อยรินสุรา ยื่นเนื้อกวาง
(ภาพจากเว็บพิพิธภัณฑ์อวกาศฮ่องกง)

ดาว กระบวย คำจีนเขียนว่า 斗 อ่านว่า โต่ว ประกอบด้วยดาว 6 ดวงในกลุ่มดาวคนยิงธนู คือ ซีตา (ζ) เทา (τ) ซิกมา (σ) ฟาย (φ) แลมบ์ดา (λ) และมิว (μ) คนยิงธนู

ดาวกระบวยใต้ของจีน เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวคนยิงธนูตามมาตรฐานสากล
(ข้อมูลกลุ่มดาวจากวิกิพีเดีย ภาพจาก Stellarium)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 13

นิทานดาวกระบวยเหนือใต้ของจีน

เล่าใหม่โดย วิษณุ เอื้อชูเกียรติ

นิทานเก่าเล่าขานมานานแท้ ตั้งแต่ครั้งสามก๊กสมัยก่อน เรื่องดาวกระบวยเหนือใต้ในนาดอน ต่ออายุหนุ่มอ่อนให้ยืนนาน

เต้าหยินกว่านลู่ผู้เรืองฤทธิ์ ย้ายถิ่นสถิตลงที่ราบบนทางผ่าน พบหยานเชาคำนับเข้ากราบกราน จึงหยั่งการอายุขัยอันใกล้ปลง บอกว่าเจ้าสิบเก้าแล้วไม่แคล้วดับ หยานเชารับคำทำนายไม่พึงประสงค์ วอนกว่านลู่ต่อชีพรอดปีชง ขออย่าให้ตายลงในเร็ววัน

“เจ้าจงเตรียมเหล้าเลิศกวางหนึ่งชั่ง กว่านลู่สั่งทันทีขมีขมัน ใต้ต้นหม่อนทิศทักษิณจงไปพลัน ณ ที่นั้นปลายนาเกี่ยวสาลี เจ้าจักพบสองเฒ่านั่งเจ่าจ่อม เฝ้าพันตูหมากล้อมอย่างเต็มที่ เฒ่าฝั่งเหนือหันใต้ดูไม่ดี ชุดขาวราวผีถมึงทึง เฒ่าฝั่งใต้หันเหนือห่มแดงสด หน้าหมดจดใจดีเป็นที่หนึ่ง จงรินเหล้าเฉือนเนื้ออย่าอื้ออึง คุกเข่ายื่นแล้วนิ่งขึงไม่เสียงดัง ทำไปเถิดจนกว่าเหล้าจะเกลี้ยง ถ้าท่านถามอย่าส่งเสียงคำนับซ้ำ เพียงเท่านี้พอแล้วที่ต้องทำ โชคชะตาจะนำอายุมา”

หยานเชาไปถึงที่แล้วปฏิบัติ ไม่ติดขัดตามคำเต้าหยินว่า สองเฒ่าหมากล้อมดื่มสุรา แกล้มกวางป่าแต่ไม่รู้จากผู้ใด

เฒ่าทางเหนือเอ่ยถาม

“เอ๊ะเจ้านี่ ทำไมมาอยู่ตรงนี้จงแถลงไข”

หยานเชาคำนับไม่ตอบอะไร เฒ่าทางใต้เอ่ยตอบในทันที

“เราดื่มเหล้ากินเนื้อที่เขาคัด จะไม่จัดสิ่งใดให้พอที่ บ้างละหรือเราไซร้ควรไยดี ช่วยเจ้าหนุ่มคนนี้ให้สมกัน”

เฒ่าเหนือว่า

”อายุขัยของเขาเรากำหนด ในบัญชีไม่อาจทดอายุสั้น”

เฒ่าใต้บอก

“เอาบัญชีมาดูพลัน”

ที่ในนั้นให้หยานเชาสิบเก้าปี แล้วหยิบพู่กันมาขีดเพิ่ม ต่อเติมเส้นตัวเลขได้ถูกที่ จากสิบเก้าเป็นเก้าสิบพอดิบพอดี

“ข้าให้เจ้าเท่านี้ก็แล้วกัน”

หยานเชาคำนับอีกแล้วเดินกลับ

กว่านลู่สำทับว่า

“สรวงสวรรค์ ต่ออายุให้เจ้าแล้วอีกนานครัน”

แล้วผายผันจากไปไม่หวนคืน

เฒ่าทางเหนือคือดาวกระบวยเหนือ คงอยู่เพื่อนำความตายมาหยิบยื่น เฒ่าทางตายคือกระบวยใต้คือการฟื้น การเกิดตื่นทั้งสิ้นที่ยินดี คนเราเกิดมาจะต้องผ่าน กระบวยใต้เบิกบานเป็นสุขศรี แล้วล่วงสู่กระบวยเหนีอเมื่อชีวี ถมคืนปฐพีทุกผู้คน

ตอนที่ 11 – กลุ่มดาวโลมา

เดลฟินัส – โยบ – นบีอัยยู๊บ

เล่าเรื่องกลุ่มดาวใหญ่ไปมากแล้ว
ขอเปลี่ยนแนวเล่าเรื่องเล็กเล็กบ้าง
ประเดิมด้วยโลมารางชาง
ขุดคัมภีร์มาอ้าง-โยบ-นบี

กลุ่มดาวโลมาแอบอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมฤดูร้อน ข้างดาวนกอินทรี ถ้าอยู่ในเมืองจะเห็นค่อนข้างยาก เพราะกลุ่มเล็กและดาวก็ไม่สว่างมากนัก ตำนานต้นเรื่องของกลุ่มดาวโลมาก็สั้นนิดเดียว สมกับเป็นเรื่องของกลุ่มดาวเล็ก

กลุ่มดาวโลมา
(วิกิพีเดีย)
ภาพกลุ่มดาวโลมาในแผนที่ดาวโบราณ แสดงร่วมกับกลุ่มดาวที่อยู่ใกล้เคียง คือลูกธนู นกอินทรี และอันทิโนอัส (กลุ่มดาวโบราณ ปัจจุบันแทนด้วยกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ) โดย เจโอชาฟัต แอสพิน แห่งลอนดอน 1825 ทำแม่พิมพ์โดย ซิดนีย์ ฮอลล์
(Hall, Sidney, Etcher. Delphinus, Sagitta, Aquila, and Antinous / Sidy. Hall, sculpt. , 1825. https://www.loc.gov/resource/cph.3g10062/)

ถึงกระนั้น เรื่องของกลุ่มดาวโลมาก็ยังมีศิลปินในอดีตหยิบมาวาดเป็นจิตรกรรมคลาสสิก

สยุมพรเทพโพไซดอนกับนางแอมฟิไทรที จิตรกรรมฝาผนัง วาดในช่วงปี 1802-05 โดยเฟลิเช เจียนี
(Wikimedia)

อีกชื่อหนึ่งของกลุ่มดาวโลมา หรือที่ถูกต้องบอกว่าของดาวเรียงเด่นส่วนหนึ่งในกลุ่มดาวโลมา คือโลงศพของโยบ (Job’s coffin) เรื่องของศาสดาพยากรณ์ที่ชื่อโยบ เป็นบทสำคัญบทหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิล เรื่องนี้มีจิตรกรจับตอนต่างๆ ไปวาดภาพไว้มากมาย แต่ที่เด่นมากเป็นภาพประกอบพระคัมภีร์ที่ วิลเลียม เบลค จิตรกรและกวีอังกฤษเมื่อสองร้อยปีก่อนได้สร้างไว้

ที่นำมาให้ชมนี้เป็นเพียงบางส่วน ฉบับเต็มหาดูได้ในเว็บ ที่นี่

ศาสนาอิสลาม เรียกโยบว่า นบีอัยยู๊บ (ใส่ไม้ตรีตามที่เห็นใช้กันในเอกสารของอิสลามหลายแห่ง) หรือ อัยยูบ (ไม่มีไม้ตรี แต่ออกเสียงตรี) คำว่า นบี หมายถึงศาสดาพยากรณ์

เรื่องของนบีอัยยู๊บมีเรื่องราวคล้ายกับที่เล่าไว้ในคัมภีร์ไบเบิล และยังมีหลุมศพของท่านให้เห็นอยู่ในประเทศโอมานปัจจุบัน

เนบิวลาดาวเคราะห์ NGC 6891 ในกลุ่มดาวโลมา
(ภาพ NGC 6891 ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ได้จาก Wikimedia)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 11

ตอนที่ 10 – กลุ่มดาวนายพราน ภาค 2

โอซิริส กับ ไอซิส – อี. อี. บาร์นาร์ด

ร่วมหกเดือนห่างหายไม่ไขขาน
เรื่องนายพรานค้างอยู่ไม่รู้จบ
อยากจะเล่าตอนใหม่ให้ครบครบ
แต่งานล้นท้นทบเกินกำลัง
บัดนี้พร้อมจะนำเสนอเรื่องโอซิริส
กับไอซิสเทวีมีมนตร์ขลัง
อีกประวัติบาร์นาร์ดผู้โด่งดัง
ด้วยมุ่งหวังเผยแพร่แผ่ตำนาน

กลุ่มดาวนายพรานในสายตาของชาวไอยคุปต์ (อียิปต์โบราณ) คือองค์เทพเจ้าโอซิริสผู้ครองปรโลก ซึ่งในตำนานเรียกว่า ดูอัต เทพองค์นี้มาเป็นคู่กับเทวีไอซิส ทั้งสององค์เป็นพี่น้องกันมีสถานะเป็นเทพมาตั้งแต่ต้น ได้ครองครองดินแดนไอยคุปต์ในฐานะกษัตริย์ที่เป็นเทพเจ้า ดาวของเทวีไอซิสคือดาวซิริอัส ในกลุ่มดาวหมาใหญ่

ตำนานกล่าวว่าเทพโอซิริสถูกเทพเซ็ตผู้เป็นน้องชายประหารด้วยการขังให้ตายในโลงศพ ต่อมาถูกเทวีไอซิสชุบขึ้นใหม่ แล้วจึงเสด็จไปครองปรโลก ด้วยเหตุนี้ รูปของเทพโอซิริสจึงเป็นรูปเทพที่ห่อหุ้มวรกายแบบมัมมี่ สีกายเขียวเหมือนศพ (ภาพจากวิกิพีเดีย)

ส่วนเทพเซ็ตนั้นมีเศียรเป็นรูปสัตว์ แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเศียรเป็นสัตว์อะไร แต่หูเป็นเหลี่ยม ศิลปิน วัชรพงศ์ เตชะไพบูลย์ เลยวาดภาพประกอบตอนสำคัญออกมาอย่างที่เห็น

วาระสุดท้ายของเทพโอซิริส เทพเซ็ตเตรียมปิดฝาโลง
(ภาพ วาระสุดท้ายของโอซิริส โดย วัชรพงศ์ เตชะไพบูลย์)
เทวีไอซิส
(วิกิพีเดีย)

นอกจากหมายถึงกลุ่มดาวนายพรานแล้ว เทพเจ้าโอซิริสยังหมายถึงน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ และแม่น้ำไนล์ด้วย ชาวอียิปต์โบราณยินดีต่อฤดูน้ำหลากของแม่น้ำไนล์ ซึ่งพาความอุดมสมบูรณ์มาสู่ดินแดนไอยคุปต์ เท่ากับการฟื้นคืนของเทพโอซิริสในแต่ละปี เทวีไอซิสเป็นผู้ประกาศการมาถึงของเทพเจ้า เมื่อดาวซิริอัสของเทวีขึ้นก่อนดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกหลังจากหายไปจากท้องฟ้าไปเป็นเดือน

**********

การขึ้นก่อนดวงอาทิตย์นี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า heliacal rising ซึ่งความสำคัญมากสำหรับดาราศาสตร์ในสมัยโบราณ และเหตุที่ดาวหายไปจากท้องฟ้า เป็นเพราะโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะมีบางช่วงที่ดาวขึ้นและตกพร้อมดวงอาทิตย์ ทำให้ถูกแดดกลบแสงจนมองไม่เห็น แต่ดาวจะขึ้นเร็วกว่าเดิม 4 นาทีทุกวัน ในที่สุดจะมีเวลาขึ้นก่อนดวงอาทิตย์จนได้ ดังในภาพประกอบ

การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ดาวขึ้นก่อนดวงอาทิตย์ หลังจากมองไม่เห็นไประยะหนึ่ง

**********

วัตถุน่าสนใจในกลุ่มดาวนายพราน นอกจากดาวฤกษ์แล้ว ยังมีเนบิวลาสว่างใหญ่ เนบิวลาหัวม้า และบ่วงบาร์นาร์ด

อีกครึ่งหนึ่งของตอนนี้เป็นเรื่องของเจ้าของชื่อบ่วง คือนายเอ็ดวาร์ด อีเมอร์สัน บาร์นาร์ด หรือ อี. อี. บาร์นาร์ด นักดาราศาตร์ผู้บุกเบิกการถ่ายภาพดาราศาสตร์ และนักสังเกตการณ์ชั้นเยี่ยม เขาขวนขวายเรียนด้วยตนเอง จากความรู้เท่ากับศูนย์จนเป็นนักดาราศาสตร์คนสำคัญของโลก เป็นชีวประวัติที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

เอ็ดวาร์ด อีเมอร์สัน บาร์นาร์ด
(วิกิพีเดีย)

ข้อมูลเพิ่มเติม – เกี่ยวกับผลงานอื่นๆ ของบาร์นาร์ด และดาวบาร์นาร์ด ผลงานการค้นพบชิ้นสำคัญอีกอย่างหนึ่งของบาร์นาร์ด หาอ่านได้ในเว็บที่เอาส่วนหนึ่งของบทความที่ผมเขียนให้กับสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ไปลง (โดยไม่ให้ที่มา) หรือในหนังสือ”เกร็ดสนุกดาราศาสตร์ ภาค 2″ ของผม เป็น ebook มีขายที่ Ookbee และที่ MebMarket

ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 10

ตอนที่ 9 – กลุ่มดาวนายพราน ภาค 1

โอไรออน – แมงป่อง – มิคสิระ – สามก๊ก

กลุ่มดาวฤดูหนาวที่โดดเด่นที่สุด เห็นจะไม่มีใครเกินกลุ่มดาวนายพราน แม้ใกล้จะพ้นหนาวแล้ว กลุ่มดาวนายพรานก็ยังโดดเด่น

คืนฟ้าใสเหมันต์สวรรค์สว่าง
ดาวนายพรานเจิดพร่างเป็นกลุ่มหลัก
ไอไรออนเจ้าเก่าหรือเต่ายักษ์
โลกรู้จักและเล่าขานตำนานเธอ

ว่ากันว่า เหตุที่ฤดูหนาวเป็นเวลาที่เหมาะแก่การดูดาว เป็นเพราะดาวที่ขึ้นในช่วงหัวค่ำของฤดูหนาวมักสว่างสุกใสกว่าดาวที่เห็นช่วงหัวค่ำในฤดูอื่น กลุ่มดาวนายพรานก็เข้าข่ายที่ว่านี้ ดาวเรียงเด่นของกลุ่มดาวนี้สุกใสโดดเด่นจริงๆ

กลุ่มดาวนายพรานยืนคร่อมเส้นศูนย์สูตรฟ้า อยู่ครึ่งทางระหว่างขั้วฟ้าเหนือใต้ จึงเห็นได้จากทุกแห่งทั่วโลก ความเป็นกลุ่มดาวขนาดใหญ่ ทำให้มีนิทานตำนานเกี่ยวกับกลุ่มดาวนายพรานจากทุกมุมโลก

โอไรออนแบกซีดาเลียน ให้ชี้ทางพาไปหาสุริยเทพฮีเลียส
(ภาพโอไรออนแบกซีดาเลียน โดย นีกอลา ปูแซง ถ่ายจากภาพจริงที่ Museum of Modern Art ได้จาก Wikipedia)

แต่คนในโลก มองกลุ่มดาวตรงนี้ต่างกัน

ฝรั่งว่าเป็นนายพรานโอไรออน

คนไทยมองเห็นเป็นดาวเต่า มีดาวไถอยู่ตรงกลาง

หรือว่าตามตำราหมอดู ตัวเต่านี่ไม่เกี่ยวแล้ว เพราะดวงจันทร์ไม่เคลื่อนผ่านตรงนั้น ผ่านแต่ตรงหัวเต่า เขาว่าเป็นดาวมิคสิระ แปลว่าหัวเนื้อ มิคสิระ เป็นการเขียนแบบภาษาบาลี ถ้าเป็นภาษาสันสกฤตจะเขียนเป็น มฤคศิระ

กลุ่มดาวนายพราน มีดาวเรียงเด่นที่เห็นง่าย เป็นรูปดาวไถ คือดาวสามดวงเรียงกัน ล้อมด้วยสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่
(ภาพกลุ่มดาวนายพราน สร้างจากโปรแกรม Cartes du Ciel ซึ่งเป็นโปรแกรมโอเพนซอร์ส)

คนจีนมองเป็นตรงนี้เป็นสองชุดเหมือนกัน คือส่วนหัวเต่าของไทย หรือมิคสิระ เขาเรียกว่าดาวจือ แปลว่าปากเต่า กับส่วนตัวเต่า รวมเรียกว่าดาวเซิน แปลว่าดาวสามดวง หมายเอาดาวที่เรียงกันเป็นเข็มขัดนายพราน หรือคันไถ เป็นหลัก

แต่ชาวจีนตั้งชื่อดาวเรียงเด่นรอบๆ ดาวหลักไว้ด้วย ซึ่งในกรณีนี้จะล้นจากบริเวณดาวหลักข้ามเขตกลุ่มดาวนายพรานออกไปด้วย ดาวจือ ดาวเซิน ก็มีดาวอื่นอยู่รอบ เท่าที่หาได้มีดังนี้

ดาวจือ (ตาราง)

ชื่อดาว(เรียงเด่น)ชื่อจีนในกลุ่มดาวจำนวนดาว
ปากเต่า觜 (จือ)นายพราน3
เจ้าอสูร司怪 (ซีไกว้)นายพราน/วัว/คนคู่4
ธงประจำตำแหน่ง座旗 (จั้วฉี)สารถี/แมวป่า9
(ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_constellation)

ดาวเซิน (ตาราง)

ชื่อดาว(เรียงเด่น)ชื่อจีนในกลุ่มดาวจำนวนดาว
ดาวสามดวง1參 (เซิน)นายพราน7
อาชญา伐 (ฝา)นายพราน3
บ่อหยก玉井 (ยวี่จิ่ง)นายพราน/แม่น้ำ4
ฉาก屏 (ผิง)กระต่ายป่า2
บ่อทัพ軍井 (จุนจิ่ง)กระต่ายป่า4
ส้วม2廁 (เช่อ)กระต่ายป่า4
อึ3屎 (สื่อ)นกเขา1
(ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_constellation)

หมายเหตุ
1 โบราณมีเพียงดาวสามดวงที่เป็นเข็มขัดนายพราน ต่อมาจึงเพิ่มอีก 4 ดวงในภายหลัง
2 มีดาว แอลฟากระต่ายป่า อยู่ด้วย
3 หมายถึงดาว มิวนกเขา

ดาวเรียงเด่นสองชุดสุดท้ายของดาวเซินนับว่าเด่นจริง ไม่ใช่สว่างเด่น แต่ชื่อเด่น

คนโบราณช่างตั้งชื่อ ถ้าเอาดาวฝรั่งผสมกับดาวจีน ก็จะเห็นนายพราน แล้วส้วม แล้วมีอึด้วย!

กลุ่มดาวนายพราน สไตล์ใหม่ พร้อมตำแหน่งดาวส้วม และดาวอึ ของจีน
(ลายเส้นสมัยใหม่กลุ่มดาวนายพราน ดาวส้วม และดาวอึ โดยวัชรพงศ์ เตชะไพบูลย์, ภาพกลุ่มดาวสร้างจากโปรแกรม Cartes du Ciel)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 9

ตอนที่ 8 – กลุ่มดาวแกะ หรือเมษ

ฟริกซัสกับเฮลลี – ดาวอาศวินี – ดาวภรณี

กลุ่มดาวแกะหรือราศีเมษ เป็นกลุ่มดาวอันดับที่หนึ่งในจักรราศี เนื่องจากจุดวสันตวิษุวัตเคยอยู่ในกลุ่มดาวนี้เมื่อหลายพันปีก่อน ถึงเดี๋ยวนี้จุดนั้นจะย้ายไปแล้ว กลุ่มดาวแกะก็ยังเป็นอันดับหนึ่งอยู่ดี

เมื่อเล่นจักรราศีก็ต้องแวะ
กลุ่มดาวแกะเอกเขนกบนสวรรค์
เป็นแกะทองหมายปฐมบรมบรรพ์
และเป็นสองฤกษ์จันทร์โยงนิทาน
ฟริกซัสช่วยนางเฮลลีที่ตกจากหลังแกะไม่ทัน ทะเลตรงนั้นจึงได้ชื่อตามนางเฮลลี
(J. C. Andrä: “Griechische Heldensagen für die Jugend bearbeitet” จาก Wikemedia)
ช่องแคบเฮลเลสพอนต์ ปัจจุบันคือช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (ซ้าย) เป็นด่านตะวันตกของทะเลมาร์มะรา ส่วนด่านตะวันออกคือช่องแคบบอสพอรัส (ขวา) มีกรุงอิสตันบุลเป็นมหานครตั้งคร่อมช่องแคบอยู่ทั้งหมด
(สาธารณสมบัติ จาก Wikipedia)

นิทานดาวไทยสำหรับดาวสองกลุ่มที่อยู่ในกลุ่มดาวแกะเขาเล่าไว้ว่าเรื่องต่อกันเพราะมีตัวละครกลับชาติมาเกิด เป็นการโยงนิทานแบบไทยๆ

ดาวสามดวงที่เริ่มจากดาวฮามัล ตามเส้นสีน้ำเงินลงไป คือดาวสว่างที่สุดสามดวงของกลุ่มดาวแกะ เท่ากับดาวโหลวของจีน สองในสามดวงเป็นส่วนหนึ่งของดาวอัศวินี

กลุ่มดาวแกะเป็นกลุ่มดาวสากล ส่วนดาวอัศวินี และภรณี เป็นดาวจันทรคติแบบไทย (ของจีนคือ โหลว และ เว่ย) ดาวสว่างที่สุดในกลุ่มดาวแกะคือ แอลฟาแกะ หรือ ฮามัล
(ภาพแผนที่ฟ้าแสดงกลุ่มดาวแกะ ดาวอัศวีนี ดาวภรณี มาจากโปรแกรม Cartes du Ciel V3.0 ซึ่งเป็นโปรแกรมโอเพนซอร์ส)

ข้อมูลดาวไทย (เส้นสีแดง ตัวหนังสือแดง) ที่ทำแผนที่ไว้นี้ได้ข้อมูลจากตำราของหลวงวิศาลดรุณกร สำหรับดาวภรณีนั้นไม่เป็นปัญหา คือรูปสามเหลี่ยมที่เห็นแน่นอน แต่ดาวอาศวินี (อัศวินี) ในตำราไม่เจาะจงว่ามีดาวอะไรบ้าง เพียงบอกว่า “อันโดรเมดาทางตะวันออก ๑ ดวง ตรีอันกุลา (สามเหลี่ยม) ๑ อาริเอส (แกะ) ๒ ดวง ปีเซส (ปลา) ๑ ดวง รวมกัน ๕ ดวง เป็นรูปหางหนูหรือคอม้า” ที่ลากเส้นไว้เป็นการสันนิษฐานของคนเล่านิทาน ไม่ยืนยันว่าจะเป็นดาวเหล่านั้นหรือไม่

ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 8

ตอนที่ 7 – กลุ่มดาวปลา หรือมีน

Details

การกบฏของพวกยักษ์ – ไทฟอน – ดาวเรวดี

หลังจากหายไปเป็นเดือน ตอนนี้เล่าเรื่องกลุ่มดาวปลากลุ่มเดียว ใครว่ากลุ่มดาวนี้ไม่มีเรื่องเล่า

กลุ่มดาวปลาราศีมีนสำคัญนัก
เพราะเป็นจุดเริ่มจักรราศี
เป็นสองปลาโยงไว้ในวารี
ดาวเรวดีก็เป็นปลามาพ้องกัน

เรื่องยักษ์กบฏในตำนานกรีกไม่เกี่ยวกับกลุ่มดาวปลาโดยตรง แต่เป็นต้นเหตุเกี่ยวเนื่องไปถึง เนื้อเรื่องก็ตื่นเต้นดี ตัวละครหลายตัวมีชื่อเป็นวัตถุท้องฟ้าสำคัญๆ จึงเล่าไว้เป็นเรื่องนำก่อนจะเข้าเรื่องไทฟอน

เทวีอะโฟรไดที (ความรัก) กับกามเทพอีรอส ผู้บุตร
เทวีอะโฟรไดที (ความรัก) กับกามเทพอีรอส ผู้บุตร
(ประติมากรรมเทวีอะโฟรไดที (ความรัก) กับกามเทพอีรอส ผลงานช่างชาวโรมัน (ค.ศ. 150-175) เลียนแบบต้นฉบับของกรีก (200-150 ก่อน ค.ศ.) จากพิพิธภัณฑ์เฮอร์มีเทจ กรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก รัสเซีย)
อะโฟรไดทีกับอีรอส แปลงเป็นปลากระโดดแม่น้ำไนล์หนีไทฟอน มีแถบผ้าผูกไว้ไม่ให้พลัดหลงกัน
(ภาพกลุ่มดาวปลาในแผนที่ฟ้าโบราณ วาดโดยจอห์น แฟลมสตีด จาก Wikemedia)

กลุ่มดาวปลามีความเกี่ยวเนื่องกับจุดวสันตวิษุวัต จุดที่เส้นสุริยวิถี (ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในรอบปี) ตัดกับเส้นศูนย์สูตรฟ้า วันที่ดวงอาทิตย์อยู่ในจุดนี้ จะเป็นวันที่กลางวันและกลางคืนเท่ากัน ถือเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือ

จุดวสันตวิษุวัตในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มดาวปลา แต่เดิมเมื่อหลายพันปีก่อน ตอนที่โหราจารย์โบราณตั้งตำราหมอดู จุดที่ว่านี้อยู่ในกลุ่มดาวแกะ ทำให้จุดเริ่มต้นของจักรราศีเป็นราศีเมษ คือกลุ่มดาวแกะ แต่หลายพันปีผ่านไป ดวงอาทิตย์ก็ย้ายเส้นทางเดิน (สุริยวิถี) ถอยมาอยู่ในกลุ่มดาวปลา ช่วงหนึ่งจุดวสันตวิษุวัตไปตรงกับดาวซีตาปลา (Zeta Piscium) ซึ่งดาราศาสตร์ฮินดูถือเป็นจุดวสันตวิษุวัต และเรียกว่าดาวเรวดี ขณะนี้จุดวสันตวิษุวัตถอยมาอีกหลายองศา อีกไม่กี่สิบปีก็จะเลื่อนไปถึงกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ

ดาวเรวดีของฮินดู เป็นดาวคู่แสงริบหรี่ ชื่อซีตาปลา เคยเป็นจุดวสันตวิสุวัต
(ภาพแผนที่ฟ้าแสดงดาวเรวดี และจุดวสันตวิษุวัต มาจากโปรแกรม Cartes du Ciel V3.0 ซึ่งเป็นโปรแกรมโอเพนซอร์ส)

ดาวเรวดีของไทย หรือเรียกว่าดาวปลาตะเพียน หรือดาวหญิงมีครรภ์ ตามตำราว่าเป็นดาวถึง 36 ดวงที่เทวดาเรียงไว้เป็นรูปไซกับปลาตะเพียน ตำแหน่งก็บริเวณเดียวกับกลุ่มดาวปลา ใช้ดาวเรียงเด่นที่เป็นรูปห้าเหลี่ยมใกล้กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ และส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวแอนดรอเมดา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าดวงไหนบ้าง และใช้ส่วนอื่นของกลุ่มดาวปลาอีกหรือไม่

ปลาตะเพียน หรือตะเพียนขาว ในรูปดาวเรวดีของไทย เขาทำเป็นดาวเรียงกันเป็นปลาตะเพียนอย่างนี้เลย
(ภาพโดย Wibowo Djatmiko CC BY-SA 3.0)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 7