ตอนพิเศษ 1 – History of modern astronomy in Thailand Part 1

History of Modern Astronomy in Thailand Part 1

เป็นพอดคาสต์ที่ทำสำหรับออกเผยแพร่ในรายการ 365 Days of Astronomy ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของ International Year of Astronomy

ตอนนี้ไม่ได้เล่านิทานดาว
เพราะเป็นเรื่องสืบราวสาวประวัติ
ดาราศาสตร์ของไทยให้รู้ชัด
พากย์อังกฤษช่วยเขาจัดสู่สากล

เนื่องจากเป็นรายการสำหรับคนทั้งโลก จึงทำเป็นภาษาอังกฤษ แบ่งเป็นสองตอนๆ แรกว่าด้วยดาราศาสตร์ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เพลงประกอบคือเพลง ราตรีประดับดาว พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียบเรียงและบรรเลงโดยวงดุริยางค์ไทยแลนด์ฟิลฮาร์โมนิค นำมาใช้โดยได้รับอนุญาตแล้ว

ฟังพอดคาสต์ตอนพิเศษ 1

หมายเหตุ: สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับสุริยุปราคาในรัชกาลที่ 5 ที่ผมเล่าไว้เมื่อปี 2009 (พ.ศ. 2552) ยังไม่มีการค้นคว้ามากนัก จึงเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ถึงปี 2020 (พ.ศ. 2563) ผมได้ค้นคว้าและเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับสุริยุปราคาครั้งนั้นไว้ 2 บทความ มีความเข้าใจมากขึ้น ที่บอกว่ามีนักดาราศาสตร์อังกฤษอีกคนไปตั้งหอดูดาวเพื่อดูดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ก่อนหน้านั้นปีหนึ่ง เป็นความเข้าใจผิด หอดูดาวนั้นเป็นกระโจมใหญ่ที่ตั้งขึ้นสำหรับเป็นหมายให้เรือเห็นจากที่ไกล ส่วนนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษอีกคนที่ว่า ความจริงคือกัปตันลอฟตัส (Alfred J. Loftus) ที่เข้ามารับราชการทำแผนที่ทะเลเมื่อต้นรัชกาลที่ 5

สุริยุปราคาข้างถนน (ฉบับ 6 นาที) 22 ก.ค. 2552

หนังชุดที่สอง ฝีมือตัดต่อของคุณเป็นไท พิมพ์ทอง มีเสียงในฟิล์มมากขึ้น ทำให้ได้บรรยากาศ และยาวกว่าฉบับแรกถึง 2 นาที มีเวลาให้มองเห็นที่มาที่ไปได้ดีขึ้น

วีดิทัศน์โดย ด.ช.ภีมภัส นาคอินทร์
ภาพนิ่งโดย วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต, วิษณุ เอื้อชูเกียรติ, พิชิต อิทธิศานต์, เป็นไท พิมพ์ทอง
ตัดต่อโดย เป็นไท พิมพ์ทอง

สุริยุปราคาข้างถนน – การตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ 22 ก.ค. 2552

การไปชมสุริยุปราคาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 นั้นไม่ใช่บินไป แหงนหน้าดู แล้วกลับ แต่เป็นความพยายาม ช่วยกันคิด พร้อมใจกันทำ ของทั้งทีมที่ร่วมทาง หนังสั้นเรื่องนี้บอกเล่าบรรยากาศแห่งความมุ่งมั่นในวันนั้นได้อย่างกระชับและครบถ้วน

วีดิทัศน์โดย ด.ช.ภีมภัส นาคอินทร์, พิชิต อิทธิศานต์, เป็นไท พิมพ์ทอง, เด็ดดวง แฉ่งใจ
ภาพนิ่งโดย วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต, วิษณุ เอื้อชูเกียรติ, คณะผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนเพลินพัฒนา

ตะวันดับที่หังโจว 22 กรกฎาคม 2552

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 ผมได้มีโอกาสร่วมชื่นชมปรากฏการณ์ สุริยุปราคาเต็มดวง ที่เมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ร่วมกับคณะผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนเพลินพัฒนา และหอดูดาวบัณฑิต ถ่ายภาพพระอาทิตย์ไว้นับสิบภาพ ที่นำมาแบ่งปันให้ชมนี้นับเป็นสองภาพที่ชอบใจที่สุดครับ

ขอแสดงภาพสูรย์ที่ไม่ส่อง
แต่เรืองรองคอโรนากระจ่างสวรรค์
และภาพพร่างแหวนเพชรวงตะวัน
เป็นของขวัญแด่ผองเพลินพัฒนา

ด้วยความประทับใจ
วิษณุ เอื้อชูเกียรติ

ชมสุริยุปราคา 22 ก.ค. 2552 อย่างผู้รู้ความเป็นมา

ชมสุริยุปราคา 22 ก.ค. 2552 อย่างผู้รู้ความเป็นมา ทั้งเรื่องสุริยุปราคาและบ้านเมืองในอดีต

** เส้นเวลาไทย-จีน-โลก-ประวัติศาสตร์ 3600 ปี (รูปแบบ TIFF ขนาด 2.5 Mb)

** สุริยุปราคาในประวัติศาสตร์ไทย (PDF ขนาด 3 Mb)
– บรรพชนไทย เคยเห็นสุริยุปราคามาแล้วหลายครั้ง
– บันทึกสุริยปราคาจากครั้งอดีต มีรวมไว้ในที่นี้
– สองภาษา ไทย-อังกฤษ เพื่อการเผยแพร่สู่ชาวโลก

ตอนที่ 10 – กลุ่มดาวนายพราน ภาค 2

โอซิริส กับ ไอซิส – อี. อี. บาร์นาร์ด

ร่วมหกเดือนห่างหายไม่ไขขาน
เรื่องนายพรานค้างอยู่ไม่รู้จบ
อยากจะเล่าตอนใหม่ให้ครบครบ
แต่งานล้นท้นทบเกินกำลัง
บัดนี้พร้อมจะนำเสนอเรื่องโอซิริส
กับไอซิสเทวีมีมนตร์ขลัง
อีกประวัติบาร์นาร์ดผู้โด่งดัง
ด้วยมุ่งหวังเผยแพร่แผ่ตำนาน

กลุ่มดาวนายพรานในสายตาของชาวไอยคุปต์ (อียิปต์โบราณ) คือองค์เทพเจ้าโอซิริสผู้ครองปรโลก ซึ่งในตำนานเรียกว่า ดูอัต เทพองค์นี้มาเป็นคู่กับเทวีไอซิส ทั้งสององค์เป็นพี่น้องกันมีสถานะเป็นเทพมาตั้งแต่ต้น ได้ครองครองดินแดนไอยคุปต์ในฐานะกษัตริย์ที่เป็นเทพเจ้า ดาวของเทวีไอซิสคือดาวซิริอัส ในกลุ่มดาวหมาใหญ่

ตำนานกล่าวว่าเทพโอซิริสถูกเทพเซ็ตผู้เป็นน้องชายประหารด้วยการขังให้ตายในโลงศพ ต่อมาถูกเทวีไอซิสชุบขึ้นใหม่ แล้วจึงเสด็จไปครองปรโลก ด้วยเหตุนี้ รูปของเทพโอซิริสจึงเป็นรูปเทพที่ห่อหุ้มวรกายแบบมัมมี่ สีกายเขียวเหมือนศพ (ภาพจากวิกิพีเดีย)

ส่วนเทพเซ็ตนั้นมีเศียรเป็นรูปสัตว์ แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเศียรเป็นสัตว์อะไร แต่หูเป็นเหลี่ยม ศิลปิน วัชรพงศ์ เตชะไพบูลย์ เลยวาดภาพประกอบตอนสำคัญออกมาอย่างที่เห็น

วาระสุดท้ายของเทพโอซิริส เทพเซ็ตเตรียมปิดฝาโลง
(ภาพ วาระสุดท้ายของโอซิริส โดย วัชรพงศ์ เตชะไพบูลย์)
เทวีไอซิส
(วิกิพีเดีย)

นอกจากหมายถึงกลุ่มดาวนายพรานแล้ว เทพเจ้าโอซิริสยังหมายถึงน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ และแม่น้ำไนล์ด้วย ชาวอียิปต์โบราณยินดีต่อฤดูน้ำหลากของแม่น้ำไนล์ ซึ่งพาความอุดมสมบูรณ์มาสู่ดินแดนไอยคุปต์ เท่ากับการฟื้นคืนของเทพโอซิริสในแต่ละปี เทวีไอซิสเป็นผู้ประกาศการมาถึงของเทพเจ้า เมื่อดาวซิริอัสของเทวีขึ้นก่อนดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกหลังจากหายไปจากท้องฟ้าไปเป็นเดือน

**********

การขึ้นก่อนดวงอาทิตย์นี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า heliacal rising ซึ่งความสำคัญมากสำหรับดาราศาสตร์ในสมัยโบราณ และเหตุที่ดาวหายไปจากท้องฟ้า เป็นเพราะโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะมีบางช่วงที่ดาวขึ้นและตกพร้อมดวงอาทิตย์ ทำให้ถูกแดดกลบแสงจนมองไม่เห็น แต่ดาวจะขึ้นเร็วกว่าเดิม 4 นาทีทุกวัน ในที่สุดจะมีเวลาขึ้นก่อนดวงอาทิตย์จนได้ ดังในภาพประกอบ

การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ดาวขึ้นก่อนดวงอาทิตย์ หลังจากมองไม่เห็นไประยะหนึ่ง

**********

วัตถุน่าสนใจในกลุ่มดาวนายพราน นอกจากดาวฤกษ์แล้ว ยังมีเนบิวลาสว่างใหญ่ เนบิวลาหัวม้า และบ่วงบาร์นาร์ด

อีกครึ่งหนึ่งของตอนนี้เป็นเรื่องของเจ้าของชื่อบ่วง คือนายเอ็ดวาร์ด อีเมอร์สัน บาร์นาร์ด หรือ อี. อี. บาร์นาร์ด นักดาราศาตร์ผู้บุกเบิกการถ่ายภาพดาราศาสตร์ และนักสังเกตการณ์ชั้นเยี่ยม เขาขวนขวายเรียนด้วยตนเอง จากความรู้เท่ากับศูนย์จนเป็นนักดาราศาสตร์คนสำคัญของโลก เป็นชีวประวัติที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

เอ็ดวาร์ด อีเมอร์สัน บาร์นาร์ด
(วิกิพีเดีย)

ข้อมูลเพิ่มเติม – เกี่ยวกับผลงานอื่นๆ ของบาร์นาร์ด และดาวบาร์นาร์ด ผลงานการค้นพบชิ้นสำคัญอีกอย่างหนึ่งของบาร์นาร์ด หาอ่านได้ในเว็บที่เอาส่วนหนึ่งของบทความที่ผมเขียนให้กับสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ไปลง (โดยไม่ให้ที่มา) หรือในหนังสือ”เกร็ดสนุกดาราศาสตร์ ภาค 2″ ของผม เป็น ebook มีขายที่ Ookbee และที่ MebMarket

ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 10

ตอนที่ 9 – กลุ่มดาวนายพราน ภาค 1

โอไรออน – แมงป่อง – มิคสิระ – สามก๊ก

กลุ่มดาวฤดูหนาวที่โดดเด่นที่สุด เห็นจะไม่มีใครเกินกลุ่มดาวนายพราน แม้ใกล้จะพ้นหนาวแล้ว กลุ่มดาวนายพรานก็ยังโดดเด่น

คืนฟ้าใสเหมันต์สวรรค์สว่าง
ดาวนายพรานเจิดพร่างเป็นกลุ่มหลัก
ไอไรออนเจ้าเก่าหรือเต่ายักษ์
โลกรู้จักและเล่าขานตำนานเธอ

ว่ากันว่า เหตุที่ฤดูหนาวเป็นเวลาที่เหมาะแก่การดูดาว เป็นเพราะดาวที่ขึ้นในช่วงหัวค่ำของฤดูหนาวมักสว่างสุกใสกว่าดาวที่เห็นช่วงหัวค่ำในฤดูอื่น กลุ่มดาวนายพรานก็เข้าข่ายที่ว่านี้ ดาวเรียงเด่นของกลุ่มดาวนี้สุกใสโดดเด่นจริงๆ

กลุ่มดาวนายพรานยืนคร่อมเส้นศูนย์สูตรฟ้า อยู่ครึ่งทางระหว่างขั้วฟ้าเหนือใต้ จึงเห็นได้จากทุกแห่งทั่วโลก ความเป็นกลุ่มดาวขนาดใหญ่ ทำให้มีนิทานตำนานเกี่ยวกับกลุ่มดาวนายพรานจากทุกมุมโลก

โอไรออนแบกซีดาเลียน ให้ชี้ทางพาไปหาสุริยเทพฮีเลียส
(ภาพโอไรออนแบกซีดาเลียน โดย นีกอลา ปูแซง ถ่ายจากภาพจริงที่ Museum of Modern Art ได้จาก Wikipedia)

แต่คนในโลก มองกลุ่มดาวตรงนี้ต่างกัน

ฝรั่งว่าเป็นนายพรานโอไรออน

คนไทยมองเห็นเป็นดาวเต่า มีดาวไถอยู่ตรงกลาง

หรือว่าตามตำราหมอดู ตัวเต่านี่ไม่เกี่ยวแล้ว เพราะดวงจันทร์ไม่เคลื่อนผ่านตรงนั้น ผ่านแต่ตรงหัวเต่า เขาว่าเป็นดาวมิคสิระ แปลว่าหัวเนื้อ มิคสิระ เป็นการเขียนแบบภาษาบาลี ถ้าเป็นภาษาสันสกฤตจะเขียนเป็น มฤคศิระ

กลุ่มดาวนายพราน มีดาวเรียงเด่นที่เห็นง่าย เป็นรูปดาวไถ คือดาวสามดวงเรียงกัน ล้อมด้วยสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่
(ภาพกลุ่มดาวนายพราน สร้างจากโปรแกรม Cartes du Ciel ซึ่งเป็นโปรแกรมโอเพนซอร์ส)

คนจีนมองเป็นตรงนี้เป็นสองชุดเหมือนกัน คือส่วนหัวเต่าของไทย หรือมิคสิระ เขาเรียกว่าดาวจือ แปลว่าปากเต่า กับส่วนตัวเต่า รวมเรียกว่าดาวเซิน แปลว่าดาวสามดวง หมายเอาดาวที่เรียงกันเป็นเข็มขัดนายพราน หรือคันไถ เป็นหลัก

แต่ชาวจีนตั้งชื่อดาวเรียงเด่นรอบๆ ดาวหลักไว้ด้วย ซึ่งในกรณีนี้จะล้นจากบริเวณดาวหลักข้ามเขตกลุ่มดาวนายพรานออกไปด้วย ดาวจือ ดาวเซิน ก็มีดาวอื่นอยู่รอบ เท่าที่หาได้มีดังนี้

ดาวจือ (ตาราง)

ชื่อดาว(เรียงเด่น)ชื่อจีนในกลุ่มดาวจำนวนดาว
ปากเต่า觜 (จือ)นายพราน3
เจ้าอสูร司怪 (ซีไกว้)นายพราน/วัว/คนคู่4
ธงประจำตำแหน่ง座旗 (จั้วฉี)สารถี/แมวป่า9
(ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_constellation)

ดาวเซิน (ตาราง)

ชื่อดาว(เรียงเด่น)ชื่อจีนในกลุ่มดาวจำนวนดาว
ดาวสามดวง1參 (เซิน)นายพราน7
อาชญา伐 (ฝา)นายพราน3
บ่อหยก玉井 (ยวี่จิ่ง)นายพราน/แม่น้ำ4
ฉาก屏 (ผิง)กระต่ายป่า2
บ่อทัพ軍井 (จุนจิ่ง)กระต่ายป่า4
ส้วม2廁 (เช่อ)กระต่ายป่า4
อึ3屎 (สื่อ)นกเขา1
(ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_constellation)

หมายเหตุ
1 โบราณมีเพียงดาวสามดวงที่เป็นเข็มขัดนายพราน ต่อมาจึงเพิ่มอีก 4 ดวงในภายหลัง
2 มีดาว แอลฟากระต่ายป่า อยู่ด้วย
3 หมายถึงดาว มิวนกเขา

ดาวเรียงเด่นสองชุดสุดท้ายของดาวเซินนับว่าเด่นจริง ไม่ใช่สว่างเด่น แต่ชื่อเด่น

คนโบราณช่างตั้งชื่อ ถ้าเอาดาวฝรั่งผสมกับดาวจีน ก็จะเห็นนายพราน แล้วส้วม แล้วมีอึด้วย!

กลุ่มดาวนายพราน สไตล์ใหม่ พร้อมตำแหน่งดาวส้วม และดาวอึ ของจีน
(ลายเส้นสมัยใหม่กลุ่มดาวนายพราน ดาวส้วม และดาวอึ โดยวัชรพงศ์ เตชะไพบูลย์, ภาพกลุ่มดาวสร้างจากโปรแกรม Cartes du Ciel)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 9

ตอนที่ 8 – กลุ่มดาวแกะ หรือเมษ

ฟริกซัสกับเฮลลี – ดาวอาศวินี – ดาวภรณี

กลุ่มดาวแกะหรือราศีเมษ เป็นกลุ่มดาวอันดับที่หนึ่งในจักรราศี เนื่องจากจุดวสันตวิษุวัตเคยอยู่ในกลุ่มดาวนี้เมื่อหลายพันปีก่อน ถึงเดี๋ยวนี้จุดนั้นจะย้ายไปแล้ว กลุ่มดาวแกะก็ยังเป็นอันดับหนึ่งอยู่ดี

เมื่อเล่นจักรราศีก็ต้องแวะ
กลุ่มดาวแกะเอกเขนกบนสวรรค์
เป็นแกะทองหมายปฐมบรมบรรพ์
และเป็นสองฤกษ์จันทร์โยงนิทาน
ฟริกซัสช่วยนางเฮลลีที่ตกจากหลังแกะไม่ทัน ทะเลตรงนั้นจึงได้ชื่อตามนางเฮลลี
(J. C. Andrä: “Griechische Heldensagen für die Jugend bearbeitet” จาก Wikemedia)
ช่องแคบเฮลเลสพอนต์ ปัจจุบันคือช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (ซ้าย) เป็นด่านตะวันตกของทะเลมาร์มะรา ส่วนด่านตะวันออกคือช่องแคบบอสพอรัส (ขวา) มีกรุงอิสตันบุลเป็นมหานครตั้งคร่อมช่องแคบอยู่ทั้งหมด
(สาธารณสมบัติ จาก Wikipedia)

นิทานดาวไทยสำหรับดาวสองกลุ่มที่อยู่ในกลุ่มดาวแกะเขาเล่าไว้ว่าเรื่องต่อกันเพราะมีตัวละครกลับชาติมาเกิด เป็นการโยงนิทานแบบไทยๆ

ดาวสามดวงที่เริ่มจากดาวฮามัล ตามเส้นสีน้ำเงินลงไป คือดาวสว่างที่สุดสามดวงของกลุ่มดาวแกะ เท่ากับดาวโหลวของจีน สองในสามดวงเป็นส่วนหนึ่งของดาวอัศวินี

กลุ่มดาวแกะเป็นกลุ่มดาวสากล ส่วนดาวอัศวินี และภรณี เป็นดาวจันทรคติแบบไทย (ของจีนคือ โหลว และ เว่ย) ดาวสว่างที่สุดในกลุ่มดาวแกะคือ แอลฟาแกะ หรือ ฮามัล
(ภาพแผนที่ฟ้าแสดงกลุ่มดาวแกะ ดาวอัศวีนี ดาวภรณี มาจากโปรแกรม Cartes du Ciel V3.0 ซึ่งเป็นโปรแกรมโอเพนซอร์ส)

ข้อมูลดาวไทย (เส้นสีแดง ตัวหนังสือแดง) ที่ทำแผนที่ไว้นี้ได้ข้อมูลจากตำราของหลวงวิศาลดรุณกร สำหรับดาวภรณีนั้นไม่เป็นปัญหา คือรูปสามเหลี่ยมที่เห็นแน่นอน แต่ดาวอาศวินี (อัศวินี) ในตำราไม่เจาะจงว่ามีดาวอะไรบ้าง เพียงบอกว่า “อันโดรเมดาทางตะวันออก ๑ ดวง ตรีอันกุลา (สามเหลี่ยม) ๑ อาริเอส (แกะ) ๒ ดวง ปีเซส (ปลา) ๑ ดวง รวมกัน ๕ ดวง เป็นรูปหางหนูหรือคอม้า” ที่ลากเส้นไว้เป็นการสันนิษฐานของคนเล่านิทาน ไม่ยืนยันว่าจะเป็นดาวเหล่านั้นหรือไม่

ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 8

ตอนที่ 7 – กลุ่มดาวปลา หรือมีน

Details

การกบฏของพวกยักษ์ – ไทฟอน – ดาวเรวดี

หลังจากหายไปเป็นเดือน ตอนนี้เล่าเรื่องกลุ่มดาวปลากลุ่มเดียว ใครว่ากลุ่มดาวนี้ไม่มีเรื่องเล่า

กลุ่มดาวปลาราศีมีนสำคัญนัก
เพราะเป็นจุดเริ่มจักรราศี
เป็นสองปลาโยงไว้ในวารี
ดาวเรวดีก็เป็นปลามาพ้องกัน

เรื่องยักษ์กบฏในตำนานกรีกไม่เกี่ยวกับกลุ่มดาวปลาโดยตรง แต่เป็นต้นเหตุเกี่ยวเนื่องไปถึง เนื้อเรื่องก็ตื่นเต้นดี ตัวละครหลายตัวมีชื่อเป็นวัตถุท้องฟ้าสำคัญๆ จึงเล่าไว้เป็นเรื่องนำก่อนจะเข้าเรื่องไทฟอน

เทวีอะโฟรไดที (ความรัก) กับกามเทพอีรอส ผู้บุตร
เทวีอะโฟรไดที (ความรัก) กับกามเทพอีรอส ผู้บุตร
(ประติมากรรมเทวีอะโฟรไดที (ความรัก) กับกามเทพอีรอส ผลงานช่างชาวโรมัน (ค.ศ. 150-175) เลียนแบบต้นฉบับของกรีก (200-150 ก่อน ค.ศ.) จากพิพิธภัณฑ์เฮอร์มีเทจ กรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก รัสเซีย)
อะโฟรไดทีกับอีรอส แปลงเป็นปลากระโดดแม่น้ำไนล์หนีไทฟอน มีแถบผ้าผูกไว้ไม่ให้พลัดหลงกัน
(ภาพกลุ่มดาวปลาในแผนที่ฟ้าโบราณ วาดโดยจอห์น แฟลมสตีด จาก Wikemedia)

กลุ่มดาวปลามีความเกี่ยวเนื่องกับจุดวสันตวิษุวัต จุดที่เส้นสุริยวิถี (ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในรอบปี) ตัดกับเส้นศูนย์สูตรฟ้า วันที่ดวงอาทิตย์อยู่ในจุดนี้ จะเป็นวันที่กลางวันและกลางคืนเท่ากัน ถือเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือ

จุดวสันตวิษุวัตในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มดาวปลา แต่เดิมเมื่อหลายพันปีก่อน ตอนที่โหราจารย์โบราณตั้งตำราหมอดู จุดที่ว่านี้อยู่ในกลุ่มดาวแกะ ทำให้จุดเริ่มต้นของจักรราศีเป็นราศีเมษ คือกลุ่มดาวแกะ แต่หลายพันปีผ่านไป ดวงอาทิตย์ก็ย้ายเส้นทางเดิน (สุริยวิถี) ถอยมาอยู่ในกลุ่มดาวปลา ช่วงหนึ่งจุดวสันตวิษุวัตไปตรงกับดาวซีตาปลา (Zeta Piscium) ซึ่งดาราศาสตร์ฮินดูถือเป็นจุดวสันตวิษุวัต และเรียกว่าดาวเรวดี ขณะนี้จุดวสันตวิษุวัตถอยมาอีกหลายองศา อีกไม่กี่สิบปีก็จะเลื่อนไปถึงกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ

ดาวเรวดีของฮินดู เป็นดาวคู่แสงริบหรี่ ชื่อซีตาปลา เคยเป็นจุดวสันตวิสุวัต
(ภาพแผนที่ฟ้าแสดงดาวเรวดี และจุดวสันตวิษุวัต มาจากโปรแกรม Cartes du Ciel V3.0 ซึ่งเป็นโปรแกรมโอเพนซอร์ส)

ดาวเรวดีของไทย หรือเรียกว่าดาวปลาตะเพียน หรือดาวหญิงมีครรภ์ ตามตำราว่าเป็นดาวถึง 36 ดวงที่เทวดาเรียงไว้เป็นรูปไซกับปลาตะเพียน ตำแหน่งก็บริเวณเดียวกับกลุ่มดาวปลา ใช้ดาวเรียงเด่นที่เป็นรูปห้าเหลี่ยมใกล้กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ และส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวแอนดรอเมดา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าดวงไหนบ้าง และใช้ส่วนอื่นของกลุ่มดาวปลาอีกหรือไม่

ปลาตะเพียน หรือตะเพียนขาว ในรูปดาวเรวดีของไทย เขาทำเป็นดาวเรียงกันเป็นปลาตะเพียนอย่างนี้เลย
(ภาพโดย Wibowo Djatmiko CC BY-SA 3.0)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 7

ตอนที่ 6 – ตำนานคนบนดวงจันทร์ของจีน

เรื่องการไหว้พระจันทร์ – ขนมไหว้พระจันทร์

ใกล้วันไหว้พระจันทร์อย่างนี้ เลยหาเรื่องทำตอนพิเศษที่ไม่ใช่ตำนานดาว แต่เป็นตำนานดวงจันทร์แทน

ไหว้พระจันทร์วันดีมีเรื่องเล่า
ตำนานเก่าโฮ่วอี้ผู้ยิ่งใหญ่
กับฉางเอ๋อผู้ครองจันทร์อำไพ
อีกความนัยเรื่องขนมและเทศกาล

เรื่องโฮ่วอี้กับฉางเอ๋อความจริงมีอยู่หลายแนว ที่ยกมาเล่ามีเพียงเรื่องเดียวพอเป็นตัวอย่าง ผู้ที่สนใจหาอ่านได้ใน จันทรคตินิยาย ของ ส. พลายน้อย ซึ่งเป็นแหล่งที่ผมเอาเรื่องตอนหนึ่งในนั้นมาเล่าให้ฟัง

ความที่ดวงจันทร์เป็นวัตถุท้องฟ้าที่โดดเด่นมาก ทุกอารยธรรมในโลกจึงมีตำนานเกี่ยวกับดวงจันทร์ทั้งนั้น อีกหน่อยคงได้ทำตอนที่เกี่ยวกับดวงจันทร์ของชาติอื่น อารยธรรมอื่นบ้าง

ไหว้พระจันทร์ปี 2550 นี้ พระจันทร์ยังไม่เต็มดวงดี ต้องรออีกหนึ่งวัน แต่เท่าที่เห็น ก็สวยมาก บนโต๊ะไหว้พระจันทร์ที่ผมไปร่วมพิธี มีส้มโอตามธรรมเนียม แต่ไม่เห็นมีหัวเผือก ส่วนขนมและเครื่องสำอางค์นั้นมีครบ ไม่บกพร่อง

ฉางเอ๋อลอยขึ้นไปถึงดวงจันทร์ โฮ่วอี้ร้องเรียก แต่ฉางเอ๋อกลับลงมาไม่ได้
ภาพจาก Internet Archive (archive.org)
Myths & legends of China by Werner, E. T. C., 1864-1954
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 6