ตอนที่ 18 กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ ภาคดาราศาสตร์

ฟังที่นี่ หรือดาวน์โหลดไปฟังก็ได้

เรื่องติดค้างกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์
แค่ตำนานสารพัดก็ยาวโข
ต้องเพิ่มตอนดาราศาสตร์อีกใหญ่โต
ชิคาโกตาฮิติถึงฮาวาย
กลุ่มเคลื่อนที่คืออะไรฟังให้รู้
แล้วไปดูฝนดาวตกกระจายสาย
ยังมีคำควอแตรนต์อยู่อีกฝ่าย
ทั้งเขตว่างกว้างขยายเกินจินตนา

หรือคลิกไปฟังใน Spotify

ชื่อดาว Arcturus มายังไง

ชาวยุโรปรู้จักชื่อ Arcturus มานาน คำนี้เป็นคำกรีกโบราณ Arktouros เขียนว่า Ἀρκτοῦρος แปลว่า ผู้อภิบาลหมี มาจากคำเก่า 2 คำ คือ ἄρκτος (arktos – อาร์คทอส) แปลว่า หมี กับ οὖρος (ouros – อูรอส) แปลว่า คนเฝ้า

นิทรรศการโลกที่นครชิคาโกเมื่อปี 1933

เป็นนิทรรศการที่ไม่ใช่แค่งานแสดงของใหม่ แต่เป็นงานที่ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริการฟื้นแล้วจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1929 ผู้จัดเตรียมงานมาอย่างดี และมีคนหลั่งไหลมาชมงานจากทั่วประเทศและทั่วโลก งานเปิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 1933 และปิดลงวันที่ 12 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน แต่ความโด่งดังของงานทำให้ต้องเปิดกลับขึ้นมาอีกในช่วงวันที่ 26 พฤษภาคม 1934 ถึง 31 ตุลาคม 1934 มีผู้เข้าชมงานรวม 48,769,227 คน จำนวนผู้เข้าชมวันสุดท้ายคือ 374,127 คน

ภาพมุมกว้างจาก Chicago World’s Fair 1933

เขตว่างคนเลี้ยงสัตว์

Boötes Void

แผนที่แสดงเขตว่างคนเลี้ยงสัตว์ ในท่ามกลางดาวนับพัน
เทียบตำแหน่งกับภาพจาก Stellarium

ฝนดาวตกควอแดรนต์

กลุ่มดาวควอแดรนต์ติดผนัง Quadrans Muralis ไม่มีในสารบบกลุ่มดาวมาตรฐาน แต่เหลือร่องรอยในชื่อฝนดาวตก

ในรูปแผนที่ดาวโบราณแผ่นนี้ กลุ่มดาวควอแดรนต์ติดผนังอยู่ที่ขอบบน
เหนือหัวกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ที่ถือสายจูงกลุ่มดาวหมาล่าเนื้อ

จุดกระจายอยู่ระหว่างดาวเรียงเด่นของกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ หมีใหญ่ และมังกร อยู่ในขอบเขตของกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์

A finder chart depicting the location of the radiant of the Quadrantids meteor shower, from Astronomy Now magazine.
Credit: Astronomy Now/Greg Smye-Rumsby
License type: Attribution (CC BY 4.0)
รูปถ่ายดาวตกในฝนดาวตกควอแดรนต์

ตอนที่ 16 – กลุ่มดาวคนคู่

เรื่องคนคู่คือไขขานมาปล่อยของ
คู่แฝดกรีกลงจองตามวิสัย
นักบุญเอลโมมีดวงไฟ
โลงกับกาแบบไทยนั้นเกี่ยวกัน
อัทระปุนัพสุระดมมาเล่า
ทีอาซีก็เข้ามาสังสรรค์
ทั้งบ่อทั้งแม่น้ำเหนือใต้พัลวัน
สารพันวัตถุที่ชวนชม

กลุ่มดาวคนคู่เริ่มรวบรวมตำนานไว้เมื่อครั้งไปเล่าเรื่องที่หอดูดาวเฉลิมพระเกีรอยรติฯ ที่อ.แปลงยาว วันมีฝนดาวตก แล้วค้นคว้าเพิ่มเติมจนกลายเป็นตอนที่ยาวที่สุด นอกจากยาวที่สุดแล้ว ยังเปลี่ยนเสียงเพลงเปิดรายการ จนถึงปิดรายการ ให้เป็นแนวเดียวกันทั้งหมด ต้องพากย์เสียงเปิดใหม่ด้วย เพราะแนวเพลงไม่เหมือนกับที่เคยใช้

อุปรากรเรื่อง คาสเตอร์และพอลลักซ์ ของราโม เต็มเรื่อง

ไฟของนักบุญเอลโม (St. Elmo’s fire)

By Wolfgang Sauber – Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=44419539

ปรากฏการณ์แสงไฟฟ้าในอากาศที่ชาวกรีกโบราณเรียกว่าคาสเตอร์กับพอลลักซ์ ปัจจุบันเรียกกันว่าไฟของนักบุญเอลโม ได้ชื่อจากนักบุญเอรัสมุสแห่งฟอร์เมีย

ปรากฏการณ์แบบเดียวกับไฟของนักบุญเอลโม ในกลุ่มควันที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ
ภาพจากบทความใน Science Blog, Image credit: Sakurajima Volcananological Observatory

คนไทยสมัยก่อนมองกลุ่มดาวคนคู่เป็นโลง

ภาพดาวจากซอฟต์แวร์ Stellarium

ดาวนักขัตฤกษ์ ปุนัพสุ คือดาวคาสเตอร์ กับพอลลักซ์ และอีกดวงหนึ่งทางซ้าย บนเส้นประ

ดาวโลง คือดาวเรียงเด่นหลักของกลุ่มดาวคนคู่ บนเส้นสีแดง

ดาวกา ของชาวพัทลุง คือเส้นสีเขียว (ตามแบบของนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ใน ไทบ้านดูดาว)

ดาวจีนในบริเวณกลุ่มดาวคนคู่

คือคณะดาวจิ่ง (คำว่า คณะดาว ผมตั้งขึ้นใหม่เอง เพื่อเป็นการเรียกไม่ให้ซ้ำกับ กลุ่มดาว) จิ่ง คือบ่อน้ำที่มีขอบบ่อ มีดาวประกอบหลายชุด

(แปลมาจาก The New Patterns in the Sky ของ Julius Staal)

กำเนิดดาวคนคู่ในตำนานไวกิ้ง

ตำนานนอร์ส ของชาวสแกนดิเนเวีย (ไวกิ้ง) ในยุโรปเหนือ เล่าถึงการเกิดดาวคนคู่จากดวงตาของยักษ์ทีอาซี เทพโลกิต้องทำงานหนัก

ในงานเลี้ยงฉลองสมรสของนางสคาดิกับเทพนยอร์ด โลกิผูกตัวเองเข้ากับแพะ ดึงกันไปมาจนเชือกขาด แล้วสคาดิก็หัวเราะ
(ภาพประกอบโดย บรรลือธนวรรฒ วงษ์เจริญธรรม)

วัตถุน่าสนใจในกลุ่มดาวคนคู่

กลุ่มดาวคนคู่
By Gemini_constellation_map.png: Torsten Brongerderivative work: Kxx (talk) – Gemini_constellation_map.png, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=10839662

ดาวคาสเตอร์ หรือแอลฟาคนคู่ ดาวที่สว่างเป็นที่สองของกลุ่มดาวคนคู่ (แต่ได้ชื่อแอลฟา) ไม่ใช่ดาวดวงเดียว เราเห็นเป็นดวงเดียวเพราะมันอยู่ไกลกว่าสายตาจะแยกออก

ระบบดาวหกดวงของดาวคาสเตอร์แบ่งเป็น 3 คู่ ดวงใหญ่ที่สุดอยู่ในคู่ A ซึ่งโคจรรรอบศูนย์มวลเดียวกันกับคู่ B ส่วนคู่ C เป็นคู่เล็กกว่าที่โคจรรอบรอบศูนย์มวลนั้นด้วย แต่มีคาบโคจรนานหลายพันปี

ดาวเกมินกา

ดาวเกมินกา (Geminga – อ่านว่า เกมินกา ไม่ใช่ เจมินกา) มองด้วยตาไม่เห็น เพราะเป็นดาวนิวตรอน ภาพนี้สร้างขึ้นโดยการรวมภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา (รังสีเอกซ์) กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิดเซอร์ (แสงอินฟราเรด)

เนบิวลาเอสกิโม (NGC 2392) ในกลุ่มดาวคนคู่
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 16

รายการ อะพอลโล 11 – จาก ม.รังสิต

รายการวิทยุจาก ม.รังสิต ที่มาสัมภาษณ์ผมไว้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 เพื่อเป็นงานเก็บคะแนนของนักศึกษานิเทศศาสตร์ปีที่ 2 ขอนำมาเผยแพร่ไว้ที่นี่อีกแห่งหนึ่งครับ

ฟังรายการ อะพอลโล 11 – จาก ม.รังสิต

ตอนที่ 12 – ดาวเคราะห์อลวน

ไขขานขึ้นตอนใหม่ขัดตาทัพ
ไร้นิทานชวนสดับดังก่อนเก่า
เอาอลวนดาวเคราะห์มาบรรเทา
พฤหัส-เสาร์คู่ยักษ์ผลักกระเจิง

เรื่องดาวเคราะห์อลวน เป็นเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบทความในนิตยสารสองสามฉบับที่ผมได้อ่าน หรือได้แปลในช่วงกลางปี 2556 ว่าด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ในวงการดาราศาสตร์ ซึ่งระบุว่าดาวเคราะห์ในระบบสุริยะในอดีตมีการมีการย้ายวงโคจรและสร้างความปั่นป่วนไปทั่วทั้งระบบ

ภาพเนบิวลาสุริยะในจินตนาการของศิลปิน ดาวเกิดใหม่ก่อตัวขึ้นจากการยุบตัวของเมฆโมเลกุลและสร้างจานดาวเคราะห์ไปพร้อมกัน
(ESO/L. Calçada, CC BY 4.0, from Wikimedia)

สิ่งที่น่าประหลาดใจคือบทความทั้งหมดตีพิมพ์ออกมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันมาก ต่อมาได้ฟังรายการพอดคาสต์ Astronomy Cast ตอน Planetary migration ซึ่งทำไว้เมื่อเดือนเมษายน 2556 ถึงได้เข้าใจว่าทฤษฎีนี้แม้จะเสนอมา 10 ปีแล้ว หากเพิ่งได้รับความยอมรับจากวงการดาราศาสตร์อย่างเต็มที่เมื่อไม่นานมานี้

ช่วงนั้นผมกำลังวางแผนบทความให้กับเว็บไซต์ของสำนักกิจการอวกาศ กระทรวง ICT อยู่พอดี เลยค้นคว้าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำหรับลงในเว็บดังกล่าว ตั้งชื่อบทความว่า ดาวเคราะห์อลวน ซึ่งขณะนี้สำนักงานและกระทรวงถูกยุบไปแล้ว จึำไม่มีเว็บเผยแพร่ผลงาน

แบบจำลองนีซแสดงสถานะของระบบสุริยะในสามห้วงเวลา กรอบซ้ายสุดเป็นสถานะเริ่มต้นเมื่อดาวเคราะห์ยักษ์ทุกดวงโคจรเป็นวงกลมรอบดวงอาทิตย์ มีวัตถุดาวเคราะห์โคจรเป็นวงกลมอยู่รอบนอก กรอบกลางคือสภาพหลังจากดาวเสาร์กับดาวพฤหัสบดีเข้าสู่วงโคจรสั่นพ้อง 1:2 และดาวเนปจูน (วงโคจรสีน้ำเงิน) ย้ายข้ามวงโคจรของดาวยูเรนัส (เส้นสีฟ้า) ลุยเข้าไปในแถบวัตถุดาวเคราะห์ กรอบขวาคือสภาพหลังจากวัตถุดาวเคราะห์กระเจิงไปมากแล้ว
(AstroMark, CC BY-SA 3.0, from Wikimedia)

ต่อมาในการประชุมกรรมการพจนานุกรมดาราศาสตร์ที่ราชบัณฑิตยสถานซึ่งผมเป็นกรรมการอยู่ด้วย มีคำขอบทความวิชาการดาราศาสตร์ไปเล่าในรายการ คลังความรู้คู่แผ่นดิน ของราชบัณฑิตยสถาน สำหรับออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ขณะนั้นผมเพิ่งเขียนบทความเสร็จได้ไม่นาน ยังหยิบข้อมูลมาพูดได้คล่องปาก จึงอาสาไปเรื่องหนึ่ง คือเรื่องดาวเคราะห์อลวนนี่เอง

สิ่งที่พิเศษสำหรับการให้สัมภาษณ์ในรายการนี้คือ ปกติอาจารย์จากราชบัณฑิตฯ มักให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เพื่อความสะดวก แต่ผมคิดอยู่แล้วว่าจะขอรายการนั้นมาทำพอดคาสต์ จึงเจาะจงไปว่าจะขอไปให้สัมภาษณ์ที่ห้องอัดเสียงของสถานีวิทยุ จนได้ออกมาเป็นรายการ ออกอากาศเมื่อวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2556 เวลา 20.30 น.

ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 12

ตอนพิเศษ 2 – History of modern astronomy in Thailand Part 2

History of Modern Astronomy in Thailand Part 2

พอดคาสต์ภาษาอังกฤษ เรื่องประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์สมัยใหม่ในประเทศไทย ภาคจบ เผยแพร่ในรายการ 365 Days of Astronomy โครงการหนึ่งของ International Year of Astronomy (ซึ่งตอนแรกว่าจะทำแค่ปีเดียว แต่การตอบรับดีมากจนเปลี่ยนเป็นจัดต่อไปเรื่อยๆ)

มีพากย์ไทยเล่าเรื่องทั้งสองตอนให้ฟังก่อน แล้วจึงเป็นภาษาอังกฤษ ตามด้วยเพลงประกอบเต็มเพลง

ดาราศาสตร์ยุคใหม่ในสยาม
เราติดตามครั้งอยุธยายังทันสมัย
ถึงรัตนโกสินทร์ยิ่งอำไพ
เล่าเป็นไทยแล้วพากย์ฝรั่งแล้วฟังเพลง

ส่วนภาษาอังกฤษ จับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่เจ็ดมาจนถึงยุคปัจจุบัน อันเป็นยุคที่ดาราศาสตร์ในประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก มีความเพิ่มพูนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

เพลงประกอบคือเพลง ราตรีประดับดาว พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียบเรียงและบรรเลงโดยวงดุริยางค์ไทยแลนด์ฟิลฮาร์โมนิค นำมาใช้โดยได้รับอนุญาตแล้ว

นอกจากการเล่าเรื่องในรายการ ผมได้ทำหนังสือเล่มเล็กเป็นภาษาอังกฤษ มีภาพประกอบ และพากย์ไทย ขึ้นไว้เล่มหนึ่ง ชื่อ History of Modern Astronomy in Thailand ในสองรูปแบบ คือ

ที่เป็น PDF นั้นเปิดอ่านในคอมพิวเตอร์ได้ง่าย ส่วน epub ต้องมีโปรแกรมอ่าน หรือส่งเข้าไปในเครื่องอ่านจึงจะอ่านได้

ฟังพอดคาสต์ตอนพิเศษ 2

ตอนพิเศษ 1 – History of modern astronomy in Thailand Part 1

History of Modern Astronomy in Thailand Part 1

เป็นพอดคาสต์ที่ทำสำหรับออกเผยแพร่ในรายการ 365 Days of Astronomy ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของ International Year of Astronomy

ตอนนี้ไม่ได้เล่านิทานดาว
เพราะเป็นเรื่องสืบราวสาวประวัติ
ดาราศาสตร์ของไทยให้รู้ชัด
พากย์อังกฤษช่วยเขาจัดสู่สากล

เนื่องจากเป็นรายการสำหรับคนทั้งโลก จึงทำเป็นภาษาอังกฤษ แบ่งเป็นสองตอนๆ แรกว่าด้วยดาราศาสตร์ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เพลงประกอบคือเพลง ราตรีประดับดาว พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียบเรียงและบรรเลงโดยวงดุริยางค์ไทยแลนด์ฟิลฮาร์โมนิค นำมาใช้โดยได้รับอนุญาตแล้ว

ฟังพอดคาสต์ตอนพิเศษ 1

หมายเหตุ: สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับสุริยุปราคาในรัชกาลที่ 5 ที่ผมเล่าไว้เมื่อปี 2009 (พ.ศ. 2552) ยังไม่มีการค้นคว้ามากนัก จึงเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ถึงปี 2020 (พ.ศ. 2563) ผมได้ค้นคว้าและเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับสุริยุปราคาครั้งนั้นไว้ 2 บทความ มีความเข้าใจมากขึ้น ที่บอกว่ามีนักดาราศาสตร์อังกฤษอีกคนไปตั้งหอดูดาวเพื่อดูดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ก่อนหน้านั้นปีหนึ่ง เป็นความเข้าใจผิด หอดูดาวนั้นเป็นกระโจมใหญ่ที่ตั้งขึ้นสำหรับเป็นหมายให้เรือเห็นจากที่ไกล ส่วนนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษอีกคนที่ว่า ความจริงคือกัปตันลอฟตัส (Alfred J. Loftus) ที่เข้ามารับราชการทำแผนที่ทะเลเมื่อต้นรัชกาลที่ 5

สุริยุปราคาข้างถนน (ฉบับ 6 นาที) 22 ก.ค. 2552

หนังชุดที่สอง ฝีมือตัดต่อของคุณเป็นไท พิมพ์ทอง มีเสียงในฟิล์มมากขึ้น ทำให้ได้บรรยากาศ และยาวกว่าฉบับแรกถึง 2 นาที มีเวลาให้มองเห็นที่มาที่ไปได้ดีขึ้น

วีดิทัศน์โดย ด.ช.ภีมภัส นาคอินทร์
ภาพนิ่งโดย วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต, วิษณุ เอื้อชูเกียรติ, พิชิต อิทธิศานต์, เป็นไท พิมพ์ทอง
ตัดต่อโดย เป็นไท พิมพ์ทอง

สุริยุปราคาข้างถนน – การตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ 22 ก.ค. 2552

การไปชมสุริยุปราคาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 นั้นไม่ใช่บินไป แหงนหน้าดู แล้วกลับ แต่เป็นความพยายาม ช่วยกันคิด พร้อมใจกันทำ ของทั้งทีมที่ร่วมทาง หนังสั้นเรื่องนี้บอกเล่าบรรยากาศแห่งความมุ่งมั่นในวันนั้นได้อย่างกระชับและครบถ้วน

วีดิทัศน์โดย ด.ช.ภีมภัส นาคอินทร์, พิชิต อิทธิศานต์, เป็นไท พิมพ์ทอง, เด็ดดวง แฉ่งใจ
ภาพนิ่งโดย วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต, วิษณุ เอื้อชูเกียรติ, คณะผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนเพลินพัฒนา

ชมสุริยุปราคา 22 ก.ค. 2552 อย่างผู้รู้ความเป็นมา

ชมสุริยุปราคา 22 ก.ค. 2552 อย่างผู้รู้ความเป็นมา ทั้งเรื่องสุริยุปราคาและบ้านเมืองในอดีต

** เส้นเวลาไทย-จีน-โลก-ประวัติศาสตร์ 3600 ปี (รูปแบบ TIFF ขนาด 2.5 Mb)

** สุริยุปราคาในประวัติศาสตร์ไทย (PDF ขนาด 3 Mb)
– บรรพชนไทย เคยเห็นสุริยุปราคามาแล้วหลายครั้ง
– บันทึกสุริยปราคาจากครั้งอดีต มีรวมไว้ในที่นี้
– สองภาษา ไทย-อังกฤษ เพื่อการเผยแพร่สู่ชาวโลก

ตอนที่ 10 – กลุ่มดาวนายพราน ภาค 2

โอซิริส กับ ไอซิส – อี. อี. บาร์นาร์ด

ร่วมหกเดือนห่างหายไม่ไขขาน
เรื่องนายพรานค้างอยู่ไม่รู้จบ
อยากจะเล่าตอนใหม่ให้ครบครบ
แต่งานล้นท้นทบเกินกำลัง
บัดนี้พร้อมจะนำเสนอเรื่องโอซิริส
กับไอซิสเทวีมีมนตร์ขลัง
อีกประวัติบาร์นาร์ดผู้โด่งดัง
ด้วยมุ่งหวังเผยแพร่แผ่ตำนาน

กลุ่มดาวนายพรานในสายตาของชาวไอยคุปต์ (อียิปต์โบราณ) คือองค์เทพเจ้าโอซิริสผู้ครองปรโลก ซึ่งในตำนานเรียกว่า ดูอัต เทพองค์นี้มาเป็นคู่กับเทวีไอซิส ทั้งสององค์เป็นพี่น้องกันมีสถานะเป็นเทพมาตั้งแต่ต้น ได้ครองครองดินแดนไอยคุปต์ในฐานะกษัตริย์ที่เป็นเทพเจ้า ดาวของเทวีไอซิสคือดาวซิริอัส ในกลุ่มดาวหมาใหญ่

ตำนานกล่าวว่าเทพโอซิริสถูกเทพเซ็ตผู้เป็นน้องชายประหารด้วยการขังให้ตายในโลงศพ ต่อมาถูกเทวีไอซิสชุบขึ้นใหม่ แล้วจึงเสด็จไปครองปรโลก ด้วยเหตุนี้ รูปของเทพโอซิริสจึงเป็นรูปเทพที่ห่อหุ้มวรกายแบบมัมมี่ สีกายเขียวเหมือนศพ (ภาพจากวิกิพีเดีย)

ส่วนเทพเซ็ตนั้นมีเศียรเป็นรูปสัตว์ แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเศียรเป็นสัตว์อะไร แต่หูเป็นเหลี่ยม ศิลปิน วัชรพงศ์ เตชะไพบูลย์ เลยวาดภาพประกอบตอนสำคัญออกมาอย่างที่เห็น

วาระสุดท้ายของเทพโอซิริส เทพเซ็ตเตรียมปิดฝาโลง
(ภาพ วาระสุดท้ายของโอซิริส โดย วัชรพงศ์ เตชะไพบูลย์)
เทวีไอซิส
(วิกิพีเดีย)

นอกจากหมายถึงกลุ่มดาวนายพรานแล้ว เทพเจ้าโอซิริสยังหมายถึงน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ และแม่น้ำไนล์ด้วย ชาวอียิปต์โบราณยินดีต่อฤดูน้ำหลากของแม่น้ำไนล์ ซึ่งพาความอุดมสมบูรณ์มาสู่ดินแดนไอยคุปต์ เท่ากับการฟื้นคืนของเทพโอซิริสในแต่ละปี เทวีไอซิสเป็นผู้ประกาศการมาถึงของเทพเจ้า เมื่อดาวซิริอัสของเทวีขึ้นก่อนดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกหลังจากหายไปจากท้องฟ้าไปเป็นเดือน

**********

การขึ้นก่อนดวงอาทิตย์นี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า heliacal rising ซึ่งความสำคัญมากสำหรับดาราศาสตร์ในสมัยโบราณ และเหตุที่ดาวหายไปจากท้องฟ้า เป็นเพราะโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะมีบางช่วงที่ดาวขึ้นและตกพร้อมดวงอาทิตย์ ทำให้ถูกแดดกลบแสงจนมองไม่เห็น แต่ดาวจะขึ้นเร็วกว่าเดิม 4 นาทีทุกวัน ในที่สุดจะมีเวลาขึ้นก่อนดวงอาทิตย์จนได้ ดังในภาพประกอบ

การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ดาวขึ้นก่อนดวงอาทิตย์ หลังจากมองไม่เห็นไประยะหนึ่ง

**********

วัตถุน่าสนใจในกลุ่มดาวนายพราน นอกจากดาวฤกษ์แล้ว ยังมีเนบิวลาสว่างใหญ่ เนบิวลาหัวม้า และบ่วงบาร์นาร์ด

อีกครึ่งหนึ่งของตอนนี้เป็นเรื่องของเจ้าของชื่อบ่วง คือนายเอ็ดวาร์ด อีเมอร์สัน บาร์นาร์ด หรือ อี. อี. บาร์นาร์ด นักดาราศาตร์ผู้บุกเบิกการถ่ายภาพดาราศาสตร์ และนักสังเกตการณ์ชั้นเยี่ยม เขาขวนขวายเรียนด้วยตนเอง จากความรู้เท่ากับศูนย์จนเป็นนักดาราศาสตร์คนสำคัญของโลก เป็นชีวประวัติที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

เอ็ดวาร์ด อีเมอร์สัน บาร์นาร์ด
(วิกิพีเดีย)

ข้อมูลเพิ่มเติม – เกี่ยวกับผลงานอื่นๆ ของบาร์นาร์ด และดาวบาร์นาร์ด ผลงานการค้นพบชิ้นสำคัญอีกอย่างหนึ่งของบาร์นาร์ด หาอ่านได้ในเว็บที่เอาส่วนหนึ่งของบทความที่ผมเขียนให้กับสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ไปลง (โดยไม่ให้ที่มา) หรือในหนังสือ”เกร็ดสนุกดาราศาสตร์ ภาค 2″ ของผม เป็น ebook มีขายที่ Ookbee และที่ MebMarket

ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 10