ตอนที่ 7 – กลุ่มดาวปลา หรือมีน

Details

การกบฏของพวกยักษ์ – ไทฟอน – ดาวเรวดี

หลังจากหายไปเป็นเดือน ตอนนี้เล่าเรื่องกลุ่มดาวปลากลุ่มเดียว ใครว่ากลุ่มดาวนี้ไม่มีเรื่องเล่า

กลุ่มดาวปลาราศีมีนสำคัญนัก
เพราะเป็นจุดเริ่มจักรราศี
เป็นสองปลาโยงไว้ในวารี
ดาวเรวดีก็เป็นปลามาพ้องกัน

เรื่องยักษ์กบฏในตำนานกรีกไม่เกี่ยวกับกลุ่มดาวปลาโดยตรง แต่เป็นต้นเหตุเกี่ยวเนื่องไปถึง เนื้อเรื่องก็ตื่นเต้นดี ตัวละครหลายตัวมีชื่อเป็นวัตถุท้องฟ้าสำคัญๆ จึงเล่าไว้เป็นเรื่องนำก่อนจะเข้าเรื่องไทฟอน

เทวีอะโฟรไดที (ความรัก) กับกามเทพอีรอส ผู้บุตร
เทวีอะโฟรไดที (ความรัก) กับกามเทพอีรอส ผู้บุตร
(ประติมากรรมเทวีอะโฟรไดที (ความรัก) กับกามเทพอีรอส ผลงานช่างชาวโรมัน (ค.ศ. 150-175) เลียนแบบต้นฉบับของกรีก (200-150 ก่อน ค.ศ.) จากพิพิธภัณฑ์เฮอร์มีเทจ กรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก รัสเซีย)
อะโฟรไดทีกับอีรอส แปลงเป็นปลากระโดดแม่น้ำไนล์หนีไทฟอน มีแถบผ้าผูกไว้ไม่ให้พลัดหลงกัน
(ภาพกลุ่มดาวปลาในแผนที่ฟ้าโบราณ วาดโดยจอห์น แฟลมสตีด จาก Wikemedia)

กลุ่มดาวปลามีความเกี่ยวเนื่องกับจุดวสันตวิษุวัต จุดที่เส้นสุริยวิถี (ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในรอบปี) ตัดกับเส้นศูนย์สูตรฟ้า วันที่ดวงอาทิตย์อยู่ในจุดนี้ จะเป็นวันที่กลางวันและกลางคืนเท่ากัน ถือเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือ

จุดวสันตวิษุวัตในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มดาวปลา แต่เดิมเมื่อหลายพันปีก่อน ตอนที่โหราจารย์โบราณตั้งตำราหมอดู จุดที่ว่านี้อยู่ในกลุ่มดาวแกะ ทำให้จุดเริ่มต้นของจักรราศีเป็นราศีเมษ คือกลุ่มดาวแกะ แต่หลายพันปีผ่านไป ดวงอาทิตย์ก็ย้ายเส้นทางเดิน (สุริยวิถี) ถอยมาอยู่ในกลุ่มดาวปลา ช่วงหนึ่งจุดวสันตวิษุวัตไปตรงกับดาวซีตาปลา (Zeta Piscium) ซึ่งดาราศาสตร์ฮินดูถือเป็นจุดวสันตวิษุวัต และเรียกว่าดาวเรวดี ขณะนี้จุดวสันตวิษุวัตถอยมาอีกหลายองศา อีกไม่กี่สิบปีก็จะเลื่อนไปถึงกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ

ดาวเรวดีของฮินดู เป็นดาวคู่แสงริบหรี่ ชื่อซีตาปลา เคยเป็นจุดวสันตวิสุวัต
(ภาพแผนที่ฟ้าแสดงดาวเรวดี และจุดวสันตวิษุวัต มาจากโปรแกรม Cartes du Ciel V3.0 ซึ่งเป็นโปรแกรมโอเพนซอร์ส)

ดาวเรวดีของไทย หรือเรียกว่าดาวปลาตะเพียน หรือดาวหญิงมีครรภ์ ตามตำราว่าเป็นดาวถึง 36 ดวงที่เทวดาเรียงไว้เป็นรูปไซกับปลาตะเพียน ตำแหน่งก็บริเวณเดียวกับกลุ่มดาวปลา ใช้ดาวเรียงเด่นที่เป็นรูปห้าเหลี่ยมใกล้กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ และส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวแอนดรอเมดา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าดวงไหนบ้าง และใช้ส่วนอื่นของกลุ่มดาวปลาอีกหรือไม่

ปลาตะเพียน หรือตะเพียนขาว ในรูปดาวเรวดีของไทย เขาทำเป็นดาวเรียงกันเป็นปลาตะเพียนอย่างนี้เลย
(ภาพโดย Wibowo Djatmiko CC BY-SA 3.0)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 7

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *