ตอนที่ 11 – กลุ่มดาวโลมา

เดลฟินัส – โยบ – นบีอัยยู๊บ

เล่าเรื่องกลุ่มดาวใหญ่ไปมากแล้ว
ขอเปลี่ยนแนวเล่าเรื่องเล็กเล็กบ้าง
ประเดิมด้วยโลมารางชาง
ขุดคัมภีร์มาอ้าง-โยบ-นบี

กลุ่มดาวโลมาแอบอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมฤดูร้อน ข้างดาวนกอินทรี ถ้าอยู่ในเมืองจะเห็นค่อนข้างยาก เพราะกลุ่มเล็กและดาวก็ไม่สว่างมากนัก ตำนานต้นเรื่องของกลุ่มดาวโลมาก็สั้นนิดเดียว สมกับเป็นเรื่องของกลุ่มดาวเล็ก

กลุ่มดาวโลมา
(วิกิพีเดีย)
ภาพกลุ่มดาวโลมาในแผนที่ดาวโบราณ แสดงร่วมกับกลุ่มดาวที่อยู่ใกล้เคียง คือลูกธนู นกอินทรี และอันทิโนอัส (กลุ่มดาวโบราณ ปัจจุบันแทนด้วยกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ) โดย เจโอชาฟัต แอสพิน แห่งลอนดอน 1825 ทำแม่พิมพ์โดย ซิดนีย์ ฮอลล์
(Hall, Sidney, Etcher. Delphinus, Sagitta, Aquila, and Antinous / Sidy. Hall, sculpt. , 1825. https://www.loc.gov/resource/cph.3g10062/)

ถึงกระนั้น เรื่องของกลุ่มดาวโลมาก็ยังมีศิลปินในอดีตหยิบมาวาดเป็นจิตรกรรมคลาสสิก

สยุมพรเทพโพไซดอนกับนางแอมฟิไทรที จิตรกรรมฝาผนัง วาดในช่วงปี 1802-05 โดยเฟลิเช เจียนี
(Wikimedia)

อีกชื่อหนึ่งของกลุ่มดาวโลมา หรือที่ถูกต้องบอกว่าของดาวเรียงเด่นส่วนหนึ่งในกลุ่มดาวโลมา คือโลงศพของโยบ (Job’s coffin) เรื่องของศาสดาพยากรณ์ที่ชื่อโยบ เป็นบทสำคัญบทหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิล เรื่องนี้มีจิตรกรจับตอนต่างๆ ไปวาดภาพไว้มากมาย แต่ที่เด่นมากเป็นภาพประกอบพระคัมภีร์ที่ วิลเลียม เบลค จิตรกรและกวีอังกฤษเมื่อสองร้อยปีก่อนได้สร้างไว้

ที่นำมาให้ชมนี้เป็นเพียงบางส่วน ฉบับเต็มหาดูได้ในเว็บ ที่นี่

ศาสนาอิสลาม เรียกโยบว่า นบีอัยยู๊บ (ใส่ไม้ตรีตามที่เห็นใช้กันในเอกสารของอิสลามหลายแห่ง) หรือ อัยยูบ (ไม่มีไม้ตรี แต่ออกเสียงตรี) คำว่า นบี หมายถึงศาสดาพยากรณ์

เรื่องของนบีอัยยู๊บมีเรื่องราวคล้ายกับที่เล่าไว้ในคัมภีร์ไบเบิล และยังมีหลุมศพของท่านให้เห็นอยู่ในประเทศโอมานปัจจุบัน

เนบิวลาดาวเคราะห์ NGC 6891 ในกลุ่มดาวโลมา
(ภาพ NGC 6891 ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ได้จาก Wikimedia)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 11

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *