ไขขานขึ้นตอนใหม่ขัดตาทัพ ไร้นิทานชวนสดับดังก่อนเก่า เอาอลวนดาวเคราะห์มาบรรเทา พฤหัส-เสาร์คู่ยักษ์ผลักกระเจิง
เรื่องดาวเคราะห์อลวน เป็นเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบทความในนิตยสารสองสามฉบับที่ผมได้อ่าน หรือได้แปลในช่วงกลางปี 2556 ว่าด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ในวงการดาราศาสตร์ ซึ่งระบุว่าดาวเคราะห์ในระบบสุริยะในอดีตมีการมีการย้ายวงโคจรและสร้างความปั่นป่วนไปทั่วทั้งระบบ

(ESO/L. Calçada, CC BY 4.0, from Wikimedia)
สิ่งที่น่าประหลาดใจคือบทความทั้งหมดตีพิมพ์ออกมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันมาก ต่อมาได้ฟังรายการพอดคาสต์ Astronomy Cast ตอน Planetary migration ซึ่งทำไว้เมื่อเดือนเมษายน 2556 ถึงได้เข้าใจว่าทฤษฎีนี้แม้จะเสนอมา 10 ปีแล้ว หากเพิ่งได้รับความยอมรับจากวงการดาราศาสตร์อย่างเต็มที่เมื่อไม่นานมานี้
ช่วงนั้นผมกำลังวางแผนบทความให้กับเว็บไซต์ของสำนักกิจการอวกาศ กระทรวง ICT อยู่พอดี เลยค้นคว้าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำหรับลงในเว็บดังกล่าว ตั้งชื่อบทความว่า ดาวเคราะห์อลวน ซึ่งขณะนี้สำนักงานและกระทรวงถูกยุบไปแล้ว จึำไม่มีเว็บเผยแพร่ผลงาน

(AstroMark, CC BY-SA 3.0, from Wikimedia)
ต่อมาในการประชุมกรรมการพจนานุกรมดาราศาสตร์ที่ราชบัณฑิตยสถานซึ่งผมเป็นกรรมการอยู่ด้วย มีคำขอบทความวิชาการดาราศาสตร์ไปเล่าในรายการ คลังความรู้คู่แผ่นดิน ของราชบัณฑิตยสถาน สำหรับออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ขณะนั้นผมเพิ่งเขียนบทความเสร็จได้ไม่นาน ยังหยิบข้อมูลมาพูดได้คล่องปาก จึงอาสาไปเรื่องหนึ่ง คือเรื่องดาวเคราะห์อลวนนี่เอง
สิ่งที่พิเศษสำหรับการให้สัมภาษณ์ในรายการนี้คือ ปกติอาจารย์จากราชบัณฑิตฯ มักให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เพื่อความสะดวก แต่ผมคิดอยู่แล้วว่าจะขอรายการนั้นมาทำพอดคาสต์ จึงเจาะจงไปว่าจะขอไปให้สัมภาษณ์ที่ห้องอัดเสียงของสถานีวิทยุ จนได้ออกมาเป็นรายการ ออกอากาศเมื่อวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2556 เวลา 20.30 น.