ตอนที่ 5 – สามเหลี่ยมฤดูร้อน ภาค 4

เทพธิดาทอผ้ากับเด็กเลี้ยงควาย – วามนาวตาร

สามเหลี่ยมฤดูร้อนภาคเก็บตก เพราะมีเรื่องที่อยากจะเล่าอีกสองเรื่อง

จวนจะสิ้นฤดูร้อนซีกโลกเหนือ
สามเหลี่ยมเหลือเรื่องเล่าไม่เท่าไหร่
ทั้งเรื่องจีนเรื่องแขกอย่าแปลกใจ
ผมมุ่งมั่นหาให้ไว้ฟังเพลิน

ตอนที่ทำเรื่องนี้เสร็จบังเอิญเพิ่งผ่านวันที่เจ็ดเดือนเจ็ดมาไม่เท่าไร ฝนตกจริงๆ ไม่รู้เทพธิดาจือหนี่กับเด็กเลี้ยงควายได้เจอกันหรือเปล่า

เทพธิดาจือหนี่ขึ้นสะพานปีกนกไปพบกับหนิวหลางและลูกๆ ในวันที่ 7 เดือน 7
เทพธิดาจือหนี่ขึ้นสะพานปีกนกไปพบกับหนิวหลางและลูกๆ ในวันที่ 7 เดือน 7
(ภาพจาก www.splendoroftaiwan.com)

ส่วนเรื่องวามนาวตาร ผู้เล่านิทานตามไปดูที่วัดพระแก้วและศาลหลักเมือง ด้วยความอยากรู้ว่ายังมีภาพและรูปปั้นตามหนังสือของรัชกาลที่ 6 หรือไม่ ได้พบว่าที่วัดพระแก้วยังมีภาพอยู่ บริเวณซุ้มประตูซึ่งเป็นทางออกสำหรับนักท่องเที่ยว ออกจากวัดพระแก้วเข้าสู่พระบรมมหาราชวังตรงพระที่นั่งสามหลังที่เป็นหมู่พระมหามณเทียร ป้ายที่ติดอยู่ตรงนั้นไม่บอกว่าเป็นวามนาวตาร กลับบอกว่าเป็นปางที่ 7 และเล่าเรื่องอื่นซึ่งดูไม่เกี่ยวกับภาพเลย ส่วนภาพนั้นเป็นวามนาวตารไม่ผิดแน่

พราหมณ์วามนขอที่ดินสามก้าวกับท้าวพลี พระศุกร์ทัดทานแต่ท้าวพลีไม่ฟัง
(ภาพวามนาวตารจากพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถ่ายโดยวิษณุ เอื้อชูเกียรติ)

แต่ที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ที่ว่ามีรูปท้าวพลี เป็นชื่อกรุงพาลีนั้น ปรากฏว่าบัดนี้ไม่มีแล้ว เท่าที่ทราบจากเจ้าหน้าที่เก่าแก่ของศาลหลักเมือง เขาบอกว่าเดิมเป็นรูปสลักติดอยู่กับหลักเมือง แต่หายไปหลังจากการบูรณะหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ชื่อกรุงพาลี ก็ยังแพร่หลายอยู่ คือในคำว่า บัตรพลี กระบะสี่เหลี่ยมที่ตั้งเครื่องสังเวย ความจริงมาจากคำว่า บัตรกรุงพาลี ก็คือไหว้ท้าวพลีตนนี้ด้วยนั่นเอง

วามนกลายเป็นพระนารายณ์ ย่างพระบาทเหยียบสวรรค์และโลกมนุษย์
(ภาพวามนาวตารจากพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถ่ายโดยวิษณุ เอื้อชูเกียรติ)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 5

ตอนที่ 4 – สามเหลี่ยมฤดูร้อน ภาค 3

กลุ่มดาวนกอินทรี – เฮราคลีส – กานีมีดีส – ดาวสาวนะ – อหุระมาซดา

เรื่องของกลุ่มดาวนกอินทรี หนึ่งในสามเหลี่ยมฤดูร้อน ต่อจากกลุ่มดาวหงส์และกลุ่มดาวพิณ

มาแล้วครับมุมสุดท้ายของสามเหลี่ยม
ดาวอินทรีสูงเยี่ยมมาบรรจบ
แถมเวกาของเก่าเล่าให้ครบ
เรื่องที่ล้นขอทบคราวต่อไป

ตอนที่วางแผนเรื่องสามเหลี่ยมฤดูร้อน นึกว่ากลุ่มดาวนกอินทรีนี่คงง่าย มีเรื่องไม่มาก ที่ไหนได้ กลับกลายเป็นมีความพิศดารจนต้องค้นคว้าเพิ่มก่อน เนื้อความที่แตกแขนงไปหลากหลายส่วนหนึ่งอยู่ในตอนที่ 4 นี้แล้ว

คราวนี้มีตำนานกรีกสองเรื่องของกลุ่มดาวนกอินทรี เรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับ เฮราคลีส หรือ เฮอร์คิวลีส และเทพไทแทนผู้สร้างมนุษย์และผู้ขโมยไฟจากทวยเทพมามอบให้มนุษย์จนถูกลงโทษ และอีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของเจ้าชายหนุ่มรูปหล่อจนเทพเจ้าหลงใหล

เรื่องที่เหลือไม่ใช่ของฝรั่งเลยสักเรื่อง มีเรื่องดาวหามผีของไทย เรื่องเทพแห่งแสงสว่างของเปอร์เซียโบราณ และเรื่องของดาวศุกร์กับดาวอังคาร หรือดาวสนธยาและดาวอรุณ จากพวกสกิดีแห่งเผ่าพอว์นี สองเรื่องหลังนี้ติดค้างมาจากคราวก่อนที่ว่าจะเล่าเกี่ยวกับดาวเวกา

คุณภาพเสียงคราวนี้ค่อนข้างแย่ เพราะรีบทำมาก ไม่มีเวลาควบคุมคุณภาพ ถึงขนาดบางครั้งต้องทำระหว่างการเดินทางไกล กลัวคนฟังจะรอนานเกินไป

โพรมีเทียสที่ถูกล่ามโซ่ติดกับภูเขาคอเคซัส มีนกอินทรีกำลังจะจิกกินตับ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทุกวันจนเฮราคลีสมาช่วยปลดปล่อย
ประติมากรรมหินอ่อน โพรมีเทียสในพันธนาการ โดย Nicolas-Sebastien Adam
เทพบดีซูสแปลงเป็นนกอินทรีมาโฉบกานีมีดีสไปเป็นมหาดเล็กถวายน้ำบนเขาโอลิมปัส
จิตรกรรมโดย Eustache Le Sueu

ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 4

ตอนที่ 3 – สามเหลี่ยมฤดูร้อน ภาค 2

ตำนานพิณ – ออร์เฟียส – พระปฐมสมโพธิกถา – คาถาพาหุง

คราวนี้มาช้าเพราะคนเล่านิทานป่วย ด้วยความกลัวจะไม่มีอะไรเล่า เลยค้นเรื่องกลุ่มดาวพิณมาจนล้นหลาม ตอนนี้เลยต้องยกให้กลุ่มดาวพิณทั้งตอน นับเป็นส่วนที่สองของสามเหลี่ยมฤดูร้อน

สามเหลี่ยมฤดูร้อนทุติยภาค
แม้ไม่มีเรื่องมากอย่างภาคก่อน
เฉพาะพิณก็ล้นจนเต็มตอน
ขอผัดผ่อนตอนต่อไปให้อินทรี

ที่จริงมีตำนานดาวแค่เรื่องเดียว แต่เรื่องเกี่ยวเนื่องเต็มไปหมด ทั้งนิทานตำนานพิณ ตำนานดาวพิณ แล้วยังพูดถึงพุทธประวัติบางตอน ก่อนจะแทรกเกร็ดดาราศาสตร์เกี่ยวกับกลุ่มดาวพิณ และดาวเวกาเข้าไปด้วย

ออร์เฟียสนำทางนางยูริดิซีขึ้นจากนรก
จิตรกรรมโดย ฌ็อง-บาติสต์-กามีลล์ โกโรต์
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 3

ตอนที่ 2 – สามเหลี่ยมฤดูร้อน ภาค 1

กลุ่มดาวหงส์ – ซิคนัส – ลีดา – ซินแบด – พระอภัยมณี

สามเหลี่ยมฤดูร้อน หมายถึงกลุ่มดาวสามกลุ่ม คือกลุ่มดาวหงส์ กลุ่มดาวพิณ และกลุ่มดาวนกอินทรี

ตอนที่สองเรื่องมากจึงอยากแบ่ง
จะเล่าแจงดาวหงส์ให้หมดสิ้น
แล้วยกทั้งเรื่องเล่าของดาวพิณ
และดาวอินทรีไว้ในอีกตอน

คำว่าสามเหลี่ยมฤดูร้อนไม่ใช่กลุ่มดาวมาตรฐาน แต่ใช้กันทั่วไปให้หมู่นักดูดาวสมัครเล่น เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มดาวชาวบ้าน คำนี้มีที่มา

มีตำนานดาวหงส์จากกรีกโบราณมาเล่าให้ฟังสองเรื่อง แถมเรื่องเกี่ยวเนื่องอีกสองเรื่อง เป็นการการเดินเรือเที่ยวที่สองของสินบัท (ซินแบด) จากอาหรับราตรี และพระอภัยมณี ตอนนางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล

เพลงประกอบของตอนพระอภัยมณีคือเพลงหุ่นกระบอก ใช้ซออู้บรรเลงสำหรับการเล่นหุ่นกระบอกโดยเฉพาะ หุ่นกระบอกไทยส่วนใหญ่เล่นแต่เรื่องพระอภัยมณี จึงหยิบมาใช้ประกอบได้พอดี บรรเลงซออู้โดยผู้เล่านิทาน

ภาพนางลีดาเป็นจิตรกรรมที่วาดเลียนแบบภาพเดิมของ มีเกลันเจโล ซึ่งหายไปแล้ว
(ภาพนี้มาจากหอศิลปแห่งชาติ ลอนดอน/Wikipedia)
นกรอคในนิทานอาหรับราตรี ภาพนี้บรรยายว่านกรอคกำลังโจมตีเรือของซินแบด แต่ความจริงในนิทานไม่มีฉากนี้เลย
(Wikipedia)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 2

ตอนที่ 1 – ทำไมต้องเล่านิทานดาว

ทำไมต้องเล่านิทานดาว – ดาวหมีใหญ่ – คัลลิสโต – คะโยตี

อยากทำเว็บนิทานดาวมาตั้งนานแล้ว กำลังสนใจหนังสือเสียง เลยเล่านิทานเป็น podcast เสียเลย

ปฐมฤกษ์เบิกโรง podcast ใหม่
บอกความนัยนิทานดาวที่เล่าขาน
เริ่มด้วยเรื่องหมีใหญ่ในคคนานต์
ทั้งเรื่องกรีกโบราณและอินเดียน

ขอเปิดตัวนิทานดาวด้วยเรื่องดาวหมีใหญ่ หมีเล็ก ดาวประจำทิศเหนือ เรื่องแรกคือตำนานกรีก เป็นเรื่องของนางคัลลิสโต อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องคะโยตี เทพหมาป่าของอินเดียนแดง จัดเรียงดาวบนท้องฟ้า

นางคัลลิสโตถูกจับได้ว่าตั้งครรภ์ จึงถูกเทวีอาร์เทมิสขับออกจากกลุ่ม
(จิตรกรรมโดย ทิเชียน/หอศิลปะแห่งชาติ สกอตแลนด์/Wikipedia)
ฟังพอดคาสต์ตอนที่ 1